Ausbildung

Probezeit – ผ่านโปร…แบบมือโปร

ถามตรงๆ ก่อนจะเริ่มงานใหม่ที่ไหนสักแห่ง ใครเคยรู้สึกหรือถามตัวเองแบบนี้บ้าง…

“ฉันจะทำได้ไหม… ฉันจะผ่านช่วงทดลองงานหรือเปล่า…”

ยิ่งคิด ยิ่งทำให้คุณเริ่มไม่แน่ใจ และกลัวที่จะก้าวออกจาก comfort zone ของตัวเอง ก้าวออกจากที่ที่คุณรู้ว่าปลอดภัยและรู้สึกดี

ถ้าคุณเคยรู้สึกแบบนี้ หรือกำลังรู้สึกอยู่ คุณไม่ใช่คนเดียวอย่างแน่นอน เราเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น ที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะทำได้ไหม เคยถามตัวเองบ่อยครั้ง… ฉันจะไปรอดหรือเปล่า

ถ้าคุณมีคำถามนี้… เราคือพวกเดียวกัน

Do I have what it takes to get where I want to be?

คุณหาที่ทำ Ausbildung ได้แล้ว และสอบสัมภาษณ์งานผ่าน นั้นหมายถึง บริษัทมองเห็นศักยภาพในตัวของคุณ และต้องการคุณเป็นส่วนหนึ่งของทีม ช่วงการทดลองงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ถ้าคุณมีคำถามว่า Ausbildung คือ อะไร

พูดง่ายๆ คือ ระบบการศึกษาสายอาชีพของเยอรมนี ที่มีทั้งการเรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพ (Berufsschule) ควบคู่ไปกับการทำงานจริง ๆในบริษัทที่รับคุณเข้าฝึกอบรม (Ausbildungsbetrieb)

ระบบการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี มีด้วยกัน 2 แบบ คือ duale Ausbildung และ schulische Ausbildung แต่ระบบที่เป็นที่นิยม คือ ระบบคู่ เพราะเป็นการเรียนที่เน้นการทำงานจริงเป็นหลัก

ช่วงทดลองงาน (Probezeit)

คือ ช่วงเวลาที่ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม (Azubi) และ บริษัทที่ฝึกอบรมได้ทำความรู้จัก และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้มีความชัดเจนในสองสิ่ง คือ

  1. ผู้เข้ารับการฝึกอบรม (Azubi) รู้ว่า อาชีพนี้เหมาะกับตนหรือไม่
  2. บริษัทที่ฝึกอบรม รู้ว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นหรือไม่

ระยะเวลาในการทดลองงาน

👉 สำหรับพนักงานประจำ คือ 6 เดือน

👉 ระยะเวลาทดลองงานของ Ausbidlung คือ อย่างน้อย  1 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน สามารถขยายระยะเวลาออกไปได้ ในกรณีที่คุณป่วยเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ใน 3 ของระยะเวลาการทดลองงาน

สิทธิและข้อปฏิบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม (Azubi) ในช่วงทดลองงาน

ช่วงทดลองงาน คือ ช่วงเวลาที่ไม่มีการคุ้มครองการเลิกจ้าง (kein Kündigungsschutz)

จดหมายลาออกช่วงทดลองงาน

  • จดหมายลาออกต้องมีการสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอ
  • คุณไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลใด ๆ เมื่อคุณต้องการลาออกในระหว่างช่วงทดลองงาน
  • คุณสามารถยุติการฝึกงานได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
  • หากคุณยังเป็นผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ผู้ปกครองตามกฎหมายจะต้องลงนามในจดหมายแจ้งการยกเลิกสัญญาการจ้างงานด้วย
เทคนิคและข้อควรปฏิบัติระหว่างช่วงทดลองงาน ที่ผ่านการทดลองและใช้ได้ผล

1️⃣ เรียนรู้เพื่อนร่วมงาน และโครงสร้างของบริษัท

  • บรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไร
  • การแต่งกาย การพูดคุยของเพื่อนร่วมงาน
  • Duzen หรือ Siezen ถ้าไม่แน่ใจให้ใช้ Sie เสมอ
เป็นที่ทราบกันดีว่า การเรียกขานคำสรรพนามบุรุษที่ 2 ในภาษาเยอรมันนั้นมี 2 แบบ คือ

👉 Sie (siezen) - สุภาพ ใช้กับคนที่เราไม่สนิท เพิ่งพบกันครั้งแรก หรือ ผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า 

👉 Du (duzen) – ใช้กับผู้ที่เรารู้จักดี แสดงถึงความเป็นกันเอง 
ถึงแม้หลายบริษัทในเยอรมนีจะเริ่มใช้ du และมีการเรียกขานอย่างเป็นกันเองมากขึ้น แต่ก็มีหลายบริษัทที่ยังคงนิยมใช้ Sie โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นหัวหน้า หรือ ผู้ที่มีตำแหน่งงานสูงกว่า ดีที่สุดคือใช้ Sie ไปก่อน 

2️⃣ พยายามเรียนรู้ให้มากที่สุด

  • ฟังให้เยอะ สังเกตสิ่งรอบข้าง การปฏิบัติตัวของเพื่อนร่วมงาน
  • ถามให้มาก ถามในสิ่งที่คุณไม่รู้ และจดรายละเอียดต่าง ๆ ลงในสมุดจดบันทึกที่คุณควรจะมีติดตัวตลอดเวลา เพราะถ้าคุณต้องถามเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ หลายๆครั้ง จะกลายเป็นว่าคุณไม่ใส่ใจในรายละเอียด และเป็นที่รำคาญของเพื่อนร่วมงานได้

Lieber einmal zu viel fragen als einmal zu wenig!
ถามมากไปดีกว่าถามน้อยไป

ไม่ต้องอายหรือกลัวที่จะถาม ในเรื่องที่เราไม่รู้ ที่เราไม่รู้ นั้นก็ถูกแล้ว เพราะถ้าเรารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับงานที่เราต้องทำ เราก็คงสมัครเป็นพนักงานประจำ คงไม่สมัครทำ Ausbildung หรอก จริงไหม

3️⃣ แสดงออกถึงความใส่ใจ อยากรู้ อยากเรียน และให้ความร่วมมือ

  • อย่ารอให้งานวิ่งมาหาคุณ ถ้ารู้ว่าตัวเองว่าง ถามหัวหน้างาน หรือ เพื่อนร่วมงานว่า มีอะไรให้คุณทำอีกไหม
  • ถ้าคุณได้รับมอบหมายให้ทำเฉพาะงานง่ายๆ และคุณทำได้จนคล่องแล้ว บอกกับหัวหน้างานว่าคุณต้องการเรียนรู้งานอย่างอื่นเพิ่ม มีอะไรที่คุณสามารถช่วยได้อีกบ้าง

4️⃣ การแต่งกาย

  • หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่สั้น และเปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง แนะนำให้ใส่รองเท้าหุ้มส้น หรือ ร้องเท้าผ้าใบที่ใส่สบาย และเคลื่อนไหวได้คล่องจะดีที่สุด

5️⃣ การปฏิบัติตัว

  • การตรงต่อเวลา เป็นที่ทราบกันดีว่า การตรงต่อเวลานั้น สำคัญสำหรับคนเยอรมันมากแค่ไหน มาก่อนเวลาทำงานสัก 5-10 นาที ก่อนเวลาเริ่มงาน และ เลิกงาน 5-10 นาที หลังเวลาเลิกงาน
  • ยิ้มแย้ม แจ่มใส และสุภาพ ไม่ว่าบริษัทไหนต่างก็ต้องการเพื่อนร่วมงานที่เป็นมิตรและสุภาพทั้งนั้น

6️⃣ การทำงานล่วงเวลา (Überstunden)

ตามกฎหมายแล้ว ผู้เข้ารับการฝึกอบรม (Azubi) สามารถทำงานล่วงเวลาได้ตามความสมัครใจ บางบริษัทอาจจะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ห้าม Azubi ทำงานล่วงเวลา แต่ถ้าเพื่อนร่วมงานของคุณต้องทำงานล่วงเวลาทุกวัน การที่คุณจะเลิกงานตรงเวลาทุกวัน คงไม่ดีนัก ในกรณีนี้ถามหัวหน้างานของคุณว่า มีอะไรที่คุณสามารถช่วยได้หรือไม่

7️⃣ การลาพักร้อน (Urlaub)

การลาหยุดพักร้อนควรจะมีการวางแผนล่วงหน้า และตกลงกับเพื่อนร่วมงานในทีมของคุณด้วย เช่น การลาหยุดในช่วงหยุดยาว ต่างๆเป็นต้น

8️⃣ ขอผลประเมินการทำงานของคุณจากเพื่อนร่วมงาน

การถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของคุณ จากเพื่อนร่วมงานหรือคนที่สอนงานคุณนั้น ทำให้คุณรู้ว่า อะไรที่คุณควรแก้ไข ปรับปรุงหรือเพิ่มเติ่ม เพื่อให้การทำงานของคุณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นี่เป็นผลประเมินการทำงานของอีฟระหว่างที่ทำ Ausbildung สาขา Kauffrau im E-Commerce เองค่ะ 🥰

Ausbildung Feedback
Feedback
Ausbildung Feedback
Feedback

ไม่เป็นไร ถ้าเราไม่รู้ทุกอย่าง บริษัทมีหน้าที่ ที่จะต้องสอนงานและให้ความรู้กับเรา จนเราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเป็นมืออาชีพในตำแหน่งและสายงานนั้นๆ

บอกตัวเองเสมอว่า ไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจและความพยายามของเราไปได้

ถ้าเราตั้งใจและพยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว ความสำเร็จต้องเป็นของเราแน่นอน

สู้ๆค่ะ เราเชื่อว่าคุณทำได้