Ausbildung

Ausbildung – เรียนสายอาชีพในเยอรมนี

เรียนสายอาชีพในเยอรมนีไม่ใช่เรื่องยาก – ถ้าคุณคิดอยากจะเรียนและทำงานที่เยอรมนี และเริ่มหาข้อมูลมาบ้างแล้ว เชื่อว่าคุณคงเคยได้ยินคำว่า Ausbildung

แต่ก็ยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ ว่าระบบนี้เป็นอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง แล้วทำไมระบบนี้ถึงเป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงานที่นี่… ทำไมการศึกษาระบบนี้ ถึงอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการเริ่มต้นสายงานอาชีพของคุณที่เยอรมนี…

บทความนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี ที่คุณจำเป็นต้องรู้ ที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมาฝากค่ะ

Ausbildung คือ อะไร

Ausbildung ระบบการศึกษาสายอาชีพของเยอรมนี ที่มีทั้งการเรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพ (Berufsschule – เบรูฟชูเล) ซึ่งจะสอนวิชาการและวิชาเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ ควบคู่ไปกับการเรียนภาคปฏิบัติ คือ การฝึกทำงานจริง ๆในบริษัท ห้างร้าน โรงงานที่รับคุณเข้าฝึกอบรม (Ausbildungsbetrieb)

การเรียนในสายนี้ผู้เรียนจะได้รับเงินเดือนจากบริษัทหรือห้างร้าน ที่ไปฝึกงาน การเรียนสายอาชีพนี้จะใช้เวลานานระหว่าง 2 ถึง 3 ปีครึ่ง ขึ้นอยู่กับสาขาที่คุณเรียน จำนวนเงินเดือนที่จะได้รับก็เช่นกัน

Ausbildung ในเยอรมนี มี 2 แบบ

  • duale Ausbildung หรือ ระบบคู่ 👉 เรียนทฤษฎีในโรงเรียนฝึกอาชีพ ควบคู่กับการทำงานในบริษัทไปด้วย เน้นปฏิบัติเป็นหลัก
  • schulische Ausbildung 👉 เรียนที่โรงเรียนฝึกอาชีพเป็นส่วนใหญ่ เน้นทฤษฎีเป็นหลัก

เป้าหมายของการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี

การฝึกอาชีพต้องถ่ายทอดทักษะ ความรู้ และความสามารถในการประกอบวิชาชีพ ที่จำเป็นสำหรับการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ทั้งจากโรงเรียนฝึกอาชีพ และบริษัทที่ฝึกอบรมให้กับผู้รับการฝึกอบรม (Azubi) เพื่อให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการทำงานของแต่ละหลักสูตรการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังต้องการให้ผู้รับการฝึกอบรม สามารถนำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนฝึกอาชีพมาใช้ในภาคปฏิบัติ เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และเพิ่มพูนประสบการณ์การทำงานของตนขึ้นไปสู่ระดับมืออาชีพได้

การเรียนสายอาชีพในประเทศเยอรมนีนั้น ส่วนใหญ่เป็นระบบคู่ เนื่องจากเป็นระบบที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงานที่นี่เป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่รับการฝึกอบรมระบบนี้จบมาแล้วนั้น จะมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างเต็มเปี่ยม

การทำเรียนสายอาชีพระบบคู่ จะมีการสอบวัดระดับ 2 รอบ

✅ การสอบกลางภาค หรือบางสาขา เช่น สาขา E-Commerce จะเรียกว่าการสอบปลายภาค ครั้งที่ 1 การสอบจัดขึ้นช่วงกลางปีการศึกษาที่ 2 ซึ่งจะเป็นการสอบข้อเขียนอย่างเดียว

✅ การสอบปลายภาค หรือการสอบปลายภาค ครั้งที่ 2 เป็นการสอบข้อเขียนก่อน หลังจากนั้นจะมีการสอบพูด คือ การนำเสนอโปรเจคก่อนจะจบนั้นเอง

ผู้จัดสอบ คือ คณะกรรมการหอการค้าและอุตสาหกรรม (Industrie- und Handelskammer หรือ IHK)

ใบประกาศนียบัตรที่คุณจะได้รับหลังจาก เรียนสายอาชีพระบบคู่เสร็จสิ้นลงมีดังนี้

  • ใบประกาศนียบัตร จากโรงเรียนฝึกอาชีพ (Berufsschulzeugnis) ออกให้โดยโรงเรียนฝึกอาชีพ
  • ใบประกาศนียบัตร จากบริษัทที่เราฝึกอบรม ออกให้โดย บริษัทที่เราทำงาน
  • ใบประกาศนียบัตร จากผลการสอบกลางภาคและปลายภาค (Prüfungszeugnis หรือ Kammerzeugnis) ออกให้โดย หอการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลการสอบปรากฏในใบประกาศนียบัตรด้วย

ทำไมการเรียนแบบสายอาชีพระบบคู่ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

  • อาชีพส่วนใหญ่ คุณจะได้รับเงินประจำเดือนทันที เงินเดือน แต่ละ อาชีพในเยอรมัน ขึ้นอยู่กับบริษัทที่คุณฝึกงานด้วย
  • แค่ใบรับรองการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และความสามารถทางภาษาเยอรมัน คุณก็สามารถสมัครเรียนสายอาชีพได้
  • มีตำแหน่งงานว่างให้เลือกมากมาย เช่น งานด้านพยาบาล หรือ สุขภาพ ต่างก็เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากทีเดียว
  • ได้รับประสบการณ์การทำงานโดยตรง
  • หลังจากจบมาแล้ว มีโอกาสได้งานทำสูง เพราะผู้ที่จบมาแล้ว จะมีประสบการณ์ในการทำงานจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกอบรมในระบบคู่
  • มีความรู้รอบด้าน เช่น ตอนนี้ เราเพิ่งเรียนสาขา E-Commerce จบ มีโอกาสได้เรียนรู้ และลองทำงานจริงในเกือบจะทุกแผนกของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น แผนกการบริการลูกค้า แผนกจัดซื้อ ผู้ดูแลและบริหารจัดการข้อมูลสินค้าที่อยู่บนเว็บไซต์ แผนกบัญชี แผนกการตลาด และ แผนกการขนส่ง อย่างน้อยแผนกละ 4 เดือน ทำให้เราได้ประสบการณ์ในการทำงานจริงๆ พูดง่ายๆว่า หลังจากทำเรียนสายอาชีพจบแล้ว เราสามารถทำงานได้ในทุกแผนกที่ต้องการ
  • ส่วนใหญ่ มีวันและเวลาทำงานที่แน่นอน

ก่อนจะเริ่มทำ Ausbildung…

คำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวเพื่อหาบริษัทที่ฝึกงาน

👉 ตั้งใจหาที่ฝึกงานอย่างจริงจัง …

ถ้าคุณไม่ตั้งใจหาที่ฝึกงานอย่างจริงจัง ผลสุดท้ายแล้ว คุณอาจจะเสียเวลาเปล่า เพราะท้ายที่สุดก็ไม่ได้ที่ฝึกงานอย่างที่ต้องการ

เราได้รวบรวม 6 เคล็ดลับเพื่อเป็นแนวทางให้คุณหาตำแหน่งงานหรือที่ฝึกงานได้เร็วขึ้น

1️⃣ การวางแผนที่ดี

คุณควรวางแผนหาที่ฝึกงานตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้คุณได้มีเวลาในการเตรียมตัว เตรียมเอกสารต่าง ๆ ก่อนที่คุณจะยื่นใบสมัครเพื่อหาบริษัทที่ฝึกงาน อย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี

2️⃣ ขอคำแนะนำและหาข้อมูลเพิ่มเติม

สาขาอาชีพไหนบ้างที่มีกับตำแหน่งงานว่างเยอะ เอกสารต่างๆที่คุณจำเป็นต้องใช้ ขอความช่วยเหลือในการเขียนประวัติโดยย่อ หรือจดหมายสมัครงานไปยัง กรมแรงงานได้เลยค่ะ

3️⃣ วิเคราะห์และประเมินผล

ว่าอาชีพไหนเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และเปรียบเทียบกับอาชีพที่คุณอยากทำ เพื่อให้ทราบว่า ถ้าคุณฝึกงานอาชีพนี้จบมาแล้ว มีตลาดแรงงานรองรับหรือไม่ เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าคุณเรียนจบมาแล้ว หางานทำไม่ได้

4️⃣ เตรียมเอกสารต่างๆที่จำเป็น

เมื่อคุณรู้แน่นอนว่าสาขาอาชีพไหนที่คุณชอบ หลังจากนั้นก็เตรียมเอกสารทุกอย่างที่คุณจำเป็นต้องต่อการสมัคร เช่น ใบประกาศนียบัตรต่าง ๆ ถ้าเป็นภาษาไทย ต้องมีการแปลและรับรองเอกสารให้เรียบร้อย

👉 ถ้าเอกสารเป็นภาษาอังกฤษแนะนำให้ลองยื่นไปเลย แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจ สามารถโทรศัพท์ไปสอบถามทางบริษัทก่อนจะส่งใบสมัครก็ได้

5️⃣ การหาที่ฝึกงาน

สิ่งที่สำคัญคือ คุณต้องหาบริษัทที่ฝึกงานให้ได้ หลังจากนั้นทางบริษัทจะเป็นผู้ดูแลและจัดการเรื่องการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพให้คุณเอง บริษัทส่วนใหญ่จะมีการแจ้งไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า โรงเรียนฝึกอาชีพนั้นอยู่ที่ไหน อันนี้คุณสามารถดูได้ตั้งแต่ยังไม่ยื่นใบสมัครว่า การเดินของคุณไปยังโรงเรียนฝึกอาชีพนั้น ใกล้-ไกลมากน้อยแค่ไหน

6️⃣ เตรียมแผนสำรองไว้ด้วย

เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องไม่แน่นอน คุณอาจจะโชคดี ได้ที่ฝึกงานที่อยากทำ ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน หรืออาจจะใช้เวลานานกว่านั้น แผนสำรองจึงเป็นสิ่งที่คุณควรมี เช่น ถ้าปีนี้ยังหาบริษัทที่ฝึกอบรม ไม่ได้ คุณอาจจะเรียนภาษาเยอรมันเพื่อการอาชีพเพิ่มเติม เพื่อให้คุณมีโอกาสปีถัดไปในการหาบริษัทที่ฝึกอบรมให้มากขึ้น

ถ้าไม่ลอง… เราก็ไม่มีทางรู้…
ถ้าไม่ออกเดินทาง เราก็ไม่มีทางที่จะถึงจุดหมายปลายทางที่หวังได้

อย่างน้อยถ้าลองแล้วไม่สำเร็จ เราก็รู้ว่ามีจุดไหนที่เรายังขาดและต้องเพิ่ม เชื่อเถอะว่า คนที่ทำอะไรสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก เขาอาจจะไม่ได้ภูมิใจและเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากมาย เหมือนกับความสำเร็จจากการลองครั้งที่ห้าหรือครั้งที่สิบของเราก็ได้

สู้ๆนะคะทุกคนเป็นกำลังให้ทุกคน เราเชื่อว่าคุณทำได้