Ausbildung

6 Tipps ง่ายๆ สัมภาษณ์งานในเยอรมนี…ให้ได้งาน

Ausbildung – 6 Tipps ง่ายๆ สัมภาษณ์งานในเยอรมนี…ให้ได้งาน – เคยสงสัยไหมว่า บริษัทดูตรงไหน เอาอะไรมาวัด ก่อนจะเลือกว่าใครเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่รับสมัคร เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม

คุณได้รับจดหมายเชิญจากบริษัท เพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์งาน เพราะบริษัทต้องการรู้จักคุณมากยิ่งขึ้น และต้องการรู้ว่า คุณมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่บริษัทกำลังรับสมัครหรือไม่

การทำให้ฝ่ายบุคคลเห็นว่า คุณมีคุณสมบัติตามที่บริษัทกำลังมองหา และ เป็นพนักงานที่บริษัทต้องการนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย

แต่….ถ้าคุณวางแผน และ เตรียมตัวมาอย่างดีแล้วล่ะก็ ไม่มีอะไรเกินความสามารถของคุณไปได้อย่างนอน

บทความนี้ เรามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และ 6 Tipps ง่ายๆ ที่จะช่วยให้การเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์งานของคุณง่ายยิ่งขึ้น

ข้อมูลสามารถใช้ได้ ไม่ว่าคุณจะสัมภาษณ์งานเพื่อ ทำ Ausbildung หรือเพื่อทำงานประจำนะคะ

✅ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Ausbildung หรือ ระบบการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี มีด้วยกัน 2 แบบ คือ duale Ausbildung และ schulische Ausbildung นะคะ 👉 ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ จาก บทความนี้ เลยค่ะ 🥰

การสัมภาษณ์งานในเยอรมนี ภาษาเยอรมันเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญมาก ถ้าใครมีคำถาม เรียนภาษาเยอรมัน ที่ไหนดี หรือ กำลังมองหาหนังสือเรียนภาษาด้วยตัวเอง บทความนี้ ช่วยคุณได้

สิ่งที่ฝ่ายบุคคลต้องการจะรู้ คือ

👉 คุณเป็นคนอย่างไร มีบุคลิกภาพ การวางตัวเป็นอย่างไร จะสามารถเข้ากับแนวทางของบริษัทได้หรือไม่

👉 คุณมีคุณสมบัติที่บริษัทกำลังมองหาหรือไม่ เช่น ความสามารถในการตัดสินใจ ความยืดหยุ่น การรับมือกับความกดดัน หรือ ความเป็นมิตร

👉 ทักษะในการอธิบาย การตอบถาม ต่าง ๆ เช่น ทำไมคุณถึงเปลี่ยนงานบ่อย หรือ ว่างงานเป็นเวลานาน ๆ

👉 คุณหวังอะไรจากตำแหน่งงานที่สมัคร  หรือ คุณมีแรงจูงใจอะไร ในการสมัครงานตำแหน่งดังกล่าว

👉 คุณมีความสามารถ หรือ ประสบการณ์อะไรมาบ้าง ที่จะเป็นประโชยน์ต่อตำแหน่งงานที่บริษัทกำลังรับสมัคร

เมื่อคุณรู้แล้วว่านี่ คือ สิ่งที่ฝ่ายบุคคลกำลังมองหา ทีนี่เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่คุณต้องเตรียม

6 Tipps ง่ายๆ สัมภาษณ์งานในเยอรมนี…ให้ได้งาน

1️⃣ หาข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับบริษัท และตำแหน่งงานที่คุณสมัคร อาจจะจากเว็บไซต์ของบริษัทโดยตรง เช่น

บริษัททำเกี่ยวกับอะไร ขายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางไหนบ้าง สินค้าตัวไหนขายดี หรือมีปัญหาอะไรบ้าง อันนี้ดูได้จาก ผลตอบรับ หรือ รีวิว (review) ของลูกค้าที่เขียนไว้ในแต่ละช่องทางการขายต่าง ๆ

ถ้าคุณสามารถคิดหาแนวทางการแก้ปัญหาได้ ยิ่งจะสามารถสร้างความประทับใจได้ยิ่งขึ้นไปอีก

2️⃣ เตรียมคำตอบเกี่ยวกับการแนะนำตัวเอง ประสบการณ์ ความชอบส่วนตัวต่างๆ

3️⃣ เตรียมคำถามเกี่ยวกับบริษัท ไปด้วยสัก 4-5 คำถาม

4️⃣ หาข้อมูล การเดินทางไปยังบริษัท ต้องใช้เวลานานแค่ไหน ถ้าเป็นไปได้ คุณอาจจะลองไปดูสถานที่ก่อนถึงวันสัมภาษณ์งานจริงก็ได้

5️⃣ แต่งกายสุภาพ สะอาด เรียบร้อย ดูดีไว้ก่อน over dress ดีกว่า under dress

6️⃣ ไปถึงที่สัมภาษณ์งานก่อนเวลานัด 10-15 นาที

Tipps 👇

ก่อนจบการสัมภาษณ์งาน ฝ่ายบุคคลจะถามเสมอว่า คุณมีคำถามอะไรหรือไม่ 

❌❌ ไม่ควรจะตอบว่า ไม่มี นะคะ

แนะนำให้เตรียมคำถามไปด้วยสัก 4-5 คำถาม ควรจะ เขียน ลงในกระดาษให้เรียบร้อย แนบไปกับเอกสารต่าง ๆที่คุณนำไปด้วย 

เช่น

ฝ่ายบุคคล: Haben Sie noch Fragen? หรือ Sie dürfen uns jetzt gerne ein paar Fragen stellen. Haben Sie welche? 

คุณ: Ja, ich habe sie aufgeschrieben. Lassen Sie mich mal schauen.
 
แล้วเอาคำถามที่คุณ „เขียนเตรียมไว้จากบ้าน“ ออกมา  
ถ้าคำถามที่คุณเตรียมมานั้น ฝ่ายบุคคลได้อธิบาย และ ตอบคำถามไปหมดแล้ว 
ให้ใช้ปากกาขีดออก แล้วก็บอกไปตรงๆว่า คำถามที่คุณเตรียมมานั้น ทางฝ่ายบุคคลอธิบายเรียบร้อยแล้ว 

อย่าถามซ้ำ เพราะแทนที่จะเป็นผลดี กลับจะกลายเป็นว่าคุณไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจในสิ่งที่ฝ่ายบุคคลอธิบายมา

👉 สิ่งสำคัญในการเตรียมคำถามไปก่อนล่วงหน้า ไม่ได้อยู่ที่คำถาม แต่เป็นการแสดงให้ฝ่ายบุคคลเห็นว่า คุณมีความใส่ใจ สนใจ อยากรู้เกี่ยวกับตำแหน่งงาน และตัวของบริษัทจริง ๆ และคุณมีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้า

ขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน

1️⃣ เริ่มด้วยการทักทาย และ พูดคุยทำความรู้จักซึ่งกันและกัน (Small Talk)

2️⃣ ตามด้วยการแนะนำตัว และ คำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร

3️⃣ บริษัทแนะนำตัว และให้ข้อมูลคร่าวๆ ว่าทำธุรกิจอะไร ด้านไหน ตามด้วยการแนะนำตำแหน่งงาน ที่เปิดรับสมัครอยู่

4️⃣ ผู้สมัครตอบคำถาม

5️⃣ สิ้นสุดการสัมภาษณ์งาน

เกณท์การประเมินในการสัมภาษณ์งาน

Ausbildung
Das Vorstellungsgespräch – 6 Tipps ง่ายๆ สัมภาษณ์งานในเยอรมนี…ให้ได้งาน
ตัวอย่างคำถาม ที่ถือว่าเป็นคำถามที่ละเอียดอ่อน และค่อนข้างตอบยาก ที่มักเจอบ่อยๆในการการสัมภาษณ์งาน
Wieso wollen Sie für uns arbeiten?
ทำไมคุณถึงต้องการทำงานกับเรา

Weshalb / Warum sollten wir uns für Sie entscheiden?
ทำไมเราถึงควรจะเลือกคุณ

Aus welcher Motivation haben Sie sich bei uns beworben?
อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้คุณสมัครงานกับเรา 

Fällt Ihnen ein Grund ein, warum wir genau Sie einstellen sollten?
บอกเหตุผลมาหนึ่งอย่าง ว่าทำไมเราถึงควรจะจ้างคุณเข้าทำงาน

Warum haben Sie sich entschlossen, diesen Beruf zu wählen? 
ทำไมคุณถึงตัดสินใจเลือกอาชีพนี้

Wo sehen Sie sich denn selbst in drei Jahren? 
คุณเห็นตัวเองอยู่ที่จุดไหน ในอีก 3 ปีข้างหน้า 

Würden Sie sich selbst als entscheidungsfreudig beschreiben? 
คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ตัดสินใจเด็ดขาดหรือไม่ 

Was würden Sie tun, wenn Sie diese Stelle nicht bekämen? 
คุณจะทำอย่างไรถ้าคุณไม่ได้งานนี้

คำถามเหล่านี้ สิ่งที่ฝ่ายบุคคลอยากรู้ คือ คุณมีคุณสมบัติ ประสบการณ์อะไรที่เหนือกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ทำให้บริษัทต้องเลือกคุณ หรือ วางแผนในอนาคตไว้อย่างไร

สำคัญ คือ คุณต้องโน้มน้าวใจฝ่ายบุคคลให้ได้ว่า คุณ คือ ผู้สมัครที่เขากำลังมองหานั้นเอง

คำถามเกี่ยวกับจุดอ่อน จุดแข็ง ของผู้สมัคร

บางครั้ง ฝ่ายบุคคลจะไม่ถามตรง ๆ ว่าคุณมีจุดอ่อน หรือ จุดแข็งอะไรบ้าง

ถ้าคุณเจอคำถามเหล่านี้ สูดหายใจเข้าลึกๆ คิดให้ดีก่อนจะตอบนะคะ

Wie würden Ihre Freunde Sie beschreiben?

ที่เขาอยากรู้ คือ คนแบบไหนที่คุณคบ และคนที่คุณรู้จักและรู้จักคุณ มองว่าคุณเป็นคนอย่างไร 

Welche Eigenschaft würden Sie an sich ändern?

ที่เขาอยากรู้ คือ อะไรที่คุณไม่ชอบในตัวของคุณเอง แล้วอยากเปลี่ยนเปลง 
นอกจากนี้ คำตอบยังสามารถบอกได้ว่า คุณสนใจ และ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของตนเองในด้านไหนบ้าง

การตอบคำถามแบบนี้ บางทีเราอาจจะยอมรับจุดอ่อนนั้นๆไปตรงๆ แล้วอธิบายอย่างสร้างสรรค์ ว่า คุณมีวิธีการจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร เช่น

ถ้าเป็นจุดอ่อน เกี่ยวกับ การระงับอารมณ์โกรธ หรือ โมโห ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อนร่วมงานหรือกับลูกค้า

คุณอาจจะตอบว่า 👇

“ถ้าคุณได้รับอีเมลจากลูกค้า หรือ เพื่อนร่วมงาน ที่ต่อว่าคุณด้วยความโมโห ทั้งที่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของคุณ แต่ก็ทำให้คุณเกิดอาการโมโหขึ้นมาบ้าง

แทนที่คุณจะตอบอีเมลกลับในทันทีหลังจากอ่านเสร็จ คุณปิดอีเมล และทำอย่างอื่นก่อน รอให้อารมณ์ของคุณเย็นลง แล้วค่อยกลับมาอ่านอีเมลอีกรอบ ก่อนจะตอบกลับพร้อมอธิบายเหตุผล“

สิ่งที่ฝ่ายบุคคลต้องการ คือ เขาอยากรู้ว่า คุณจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

สำคัญ คือ อย่าพูดถึงจุดอ่อนที่ ควรจะเป็นจุดแข็งในตำแหน่งงานที่คุณสมัคร เช่น

คุณสมัครงานทำงาน หรือ Ausbildung สาขา E-Commerce แต่กลับตอบว่าจุดอ่อนของคุณ คือ เป็นคนที่ไม่ชอบใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ชอบใช้ Facebook Instagram หรือ ไม่ค่อยอ่านอีเมลสักเท่าไหร่ อย่างนี้โอกาสในการได้งานของคุณคงไม่มากนัก เป็นต้น

มีคำถามบางประเภทที่ฝ่ายบุคคลห้ามถาม ในระหว่างการสัมภาษณ์งานในเยอรมัน และ เราสามารถเลือกที่จะไม่ตอบได้ เช่น
  • คำถามเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หรือ ความต้องการมีบุตร
  • คำถามเกี่ยวกับศาสนา หรือ คำถามเกี่ยวกับการเมือง
  • คำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงิน
  • คำถามเกี่ยวกับสถานภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือ ถามว่า คนในครอบครัวของคุณทำอาชีพอะไร

ในกรณีส่วนใหญ่ ฝ่ายบุคคลจะแจ้งผลให้ทราบ ภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากวันสัมภาษณ์งาน ถ้านานเกินกว่านี้ คุณสามารถติดต่อไปยังผู้ที่รับผิดชอบ และสอบถามผลได้

การสัมภาษณ์งาน คือ การทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้สมัครงานและบริษัท เพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม และมีแนวโน้มว่าจะเข้ากับแนวทางของบริษัทได้ดีที่สุด

เป็นตัวของคุณเอง แสดงออกถึงความมั่นใจ อย่างสุภาพ ว่าคุณมีคุณสมบัติตามที่บริษัทต้องการ อย่าถ่อมตนมากเกินไป เพราะจะดูเหมือนว่าคุณไม่มีความมั่นใจในตัวเอง

อย่าลืมว่าฝ่ายบุคคลที่สัมภาษณ์งานคุณ คือ ชาวเยอรมัน ที่ต้องการพนักงานที่มีความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง และกล้าตัดสินใจ มากกว่าพนักงานที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน

ใช้เวลาในการสัมภาษณ์งานให้เกิดประโยชน์ที่สุด เรียนรู้ และ ทำความรู้จักบริษัทให้ดีที่สุด เพราะนี่อาจจะเป็นบริษัทนายจ้างของคุณในอนาคตก็ได้

เลือกบริษัทที่เหมาะกับคุณ
อย่าให้บริษัทเป็นฝ่ายเลือกคุณอย่างเดียว

Eve Schönberner

สู้ๆนะคะทุกคน เราเชื่อว่าคุณทำได้อย่างแน่นอน