แชร์ประสบการณ์การทำงานในเยอรมนี – หลายคนอยากมาทำงานในเยอรมนี เพราะค่าตอบแทนที่สูงและอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชีวิตการทำงานที่นี่ ก็ไม่ได้มีแค่ทำงาน แล้วได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนสูงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายอย่างด้วยกันที่สำคัญและต้องนึกถึง
ไม่ว่าจะสังคมการทำงานของคนเยอรมัน วัฒนธรรมของแต่ละองค์กร ความคิดเห็น ความแตกต่างทางภาษา ความคาดหวังและความจริงจังในการทำงานและเพื่อนร่วมงาน การปฏิบัติตัวของเพื่อนร่วมก็แตกต่างจากที่ไทยเยอะพอสมควร ต่างเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานที่นี่ให้มีความสุขและประสบความสำเร็จ
บทความนี้เราเอาประสบการณ์การทำงาน ความผิดพลาด สิ่งที่ได้เรีนนรู้ บทเรียน ข้อแนะนำ ที่ได้มาด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม น้ำตา และความภูมิใจของเราเองมาแบ่งปัน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับใครที่กำลังมองหางาน หาที่ฝึกงาน กำลังวางแผนจะมาทำงานหรือมาอยู่ที่นี่ได้
ตำแหน่งงาน & การเริ่มต้น
เริ่มการทำงานด้วยการทำ Ausbildung สาขา Kauffrau im E-Commerce พอเรียนจบ บริษัทก็รับเข้าทำงานต่อเลยและเสนอตำแหน่งงานให้เลือก ดังนั้นก็เลยไม่มีช่วงทดลองงาน
เราเลือกทำงานในตำแหน่ง Data Quality Manager คือ ผู้ดูแลและจัดการข้อมูลของสินค้าและบริการในระบบรวมไปถึงข้อมูลต่างๆบนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนก Sortiment คือ เป็นแผนกที่ดูแลเกี่ยวกับข้อมูลของสินค้าและการเลือกสินค้าทั้งหมดที่จะลงขายในเว็บไซต์
ใครที่เคยอ่านการแชร์ประสบการณ์ สมัคร & ทำ Ausbildung ในเยอรมนี จะรู้ว่า ในระหว่างการฝึกอบรม เราได้ฝึกทำงานในหลากหลายแผนก ไม่ว่าจะเป็น แผนกบริการลูกค้า (Kundenservice) แผนกจัดซื้อ (Einkaufsabteilung) แผนกบัญชี (Buchhaltung) แผนก Sortiment และ Marketing ซึ่งจบมาแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่าเราอยากจะทำงานแผนกไหน ด้านไหน สาขาอะไร
เราเลือกตำแหน่งงานจากความชอบของเนื้อหาของงาน เพื่อนร่วมงานในทีมและความยืดหยุนของเวลาทำงาน ที่สามารถเลือกเองได้ว่า จะเริ่มงานกี่โมง
เงินเดือน
ถึงหลายคนจะบอกว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่างหรือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตการทำงาน แต่ก็เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ต้องนึกถึง เมื่อเปรียบเทียบกับคุณสมบัติข้ออื่นๆ เพราะต่อให้เราชอบงานที่ทำแค่ไหน หรือต่อให้เพื่อนร่วมงานดีแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ยังต้องกินต้องใช้ เงินเดือนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
หลังจากทำ Ausbildung จบมาแล้ว เงินเดือนที่จะได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างด้วยกัน เช่น สาขางานที่เราเลือกทำ บริษัทที่เราทำงาน เขตและเมืองที่เราอาศัยอยู่
เงินเดือนที่บริษัทเสนอให้เรา ตอนเริ่มต้นก็ถือว่าโอเค ไม่ได้เยอะหรือน้อยจนเกินไป ซึ่งก็เป็นจำนวนที่ยอมรับได้ เพราะเราคิดว่า อย่างน้อยก็ทำงานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานไปก่อน 2-3 ปี แล้วค่อยว่ากันต่อ แต่หลังจากทำงานได้ 8 เดือน บริษัทก็ขึ้นเงินเดือนให้ โดยที่เราไม่ได้ร้องขอ
Pro Tips:
คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า บริษัทต้องให้เงินเดือนฉันเยอะก่อน ฉันถึงจะทำงานให้อย่างเต็มที่ แต่ลืมไปว่า ไม่มีบริษัทไหนในโลกนี้ที่มีการบริหารงานแบบนั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้าม เราต้องแสดงให้บริษัทเห็นก่อนว่า เรามีความสามารถ มีศักยภาพ แล้วค่อยเรียกร้อง
เปลี่ยนจาก: ขึ้นเงินเดือนให้ฉันก่อน แล้วฉันจะทำงานให้เธออย่างเต็มที่
มาเป็น: เราทำงานอย่างเต็มความสามารถอย่างมีคุณภาพ ให้บริษัทเห็นว่า เราเป็นพนักงานที่มีศักยภาพ หัวหน้าที่ดีเขาก็จะเห็นคุณค่าของเรา จะขึ้นเงินเดือนให้เราเอง หรือเราค่อยเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่ม เพราะถ้าบริษัทพอใจในผลการทำงานของคุณ เขาก็อยากให้คุณอยู่ทำงานที่บริษัทต่อไป
หัวหน้างาน & เพื่อนร่วมงาน
เพื่อนร่วมงาน เป็นคนที่สำคัญมากคนหนึ่งในชีวิตการทำงานของเรา แต่เพื่อนร่วมงานในเยอรมนีไม่ใช่เพื่อนของคุณ เพื่อนร่วมงานที่นี่แตกต่างจากที่ไทยมากพอสมควร ที่นี่แยกอย่างชัดเจนระหว่างเพื่อนกับเพื่อนร่วมงาน
เพื่อนร่วมงานชาวเยอรมัน คือ คนที่เรารู้จัก พูดคุยระหว่างการทำงาน กินกาแฟ กินข้าวเที่ยงในช่วงหยุดพักกลางวันด้วยกัน แต่น้อยมากที่จะนัดเจอกันหลังเลิกงาน หรือ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะชาวเยอรมันแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันอย่างชัดเจนมาก
เราโชคดีที่มีเพื่อนร่วมทีมและหัวหน้าที่ใจกว้าง คือ ให้สิทธิ์ในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ในทางกลับกันก็พร้อมให้คำปรึกษาเมื่อเราต้องการ
แต่การทำงานไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจอปัญหา หรือมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานมาก่อนอย่างแน่นอน ยิ่งเราทำงานกับคนที่มีวัฒนธรรม ภาษาที่แตกต่างออกไป ความคาดหวังในผลการทำงานก็แตกต่างกันตามไปด้วย
ปัญหาใหญ่ที่สุด ที่เราในฐานะชาวต่างชาติเจอระหว่างช่วงเริ่มทำงานแรกๆ คือ ในช่วงเริ่ม Ausbildungใหม่ๆ คือ เพื่อนร่วมงานไม่มั่นในความสามารถเรา ดูถูกเรา คิดว่าสิ่งที่เราทำหรือข้อมูลที่เราได้มาอาจจะไม่ถูกต้อง เพียงเพราะภาษาเยอรมันของเรายังไม่ค่อยดีนัก
เป็นช่วงที่เครียด เหนื่อยและหนักมาก แอบร้องไห้บ่อยมาก รู้สึกว่าเราพยายามมากที่สุดแล้ว แต่ทำไมมันยังดีไม่พอ ทำไมเขาไม่ให้โอกาสเราในการพิสูจน์ตัวเองก่อน แล้วค่อยบอกว่าเราทำไม่ได้
เราแก้ปัญหาด้วยการพยายามเรียนรู้ให้มากขึ้น จดรายละเอียดงานทุกอย่างที่สำคัญ พยายามทำงานให้รอบคอบที่สุด เช่น ถ้าเราแก้ไขข้อมูลอะไรในระบบ เราจะเขียนลงบันทึกตลอดว่า เราทำอะไรและได้ข้อมูลมาจากไหน ซึ่งถ้าใครมีคำถาม เขาสามารถเข้าไปดูเองจากแหล่งข้อมมูลที่เราลงไว้ได้
ความชัดเจนคือหลักฐานที่ไม่ต้องการคำอธิบาย
บทเรียน
ตลอดระยะเวลาในการทำงาน ตั้งแต่ช่วงที่ทำ Ausbildung จนมาถึงตอนนี้ ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ทำให้เราเติบโตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น ทำงานรอบคอบมากขึ้น และนี่คือบทเรียนต่างๆที่เราได้เรียนรู้
1️⃣ ทำงานให้เสร็จเรียบร้อย แทน “ฉันทำดีที่สุดแล้ว”
คุณภาพของงานมาก่อนเสมอ แสดงออกให้คนอื่นเห็นก่อนว่าเราทำได้และมีศักยภาพมากพอ เพราะนั้นเป็นหลักฐานที่สำคัญ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องอธิบายว่า ทำไม เราควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือน
Pro Tips:
บางครั้งเราอาจจะคิดว่า เราทำดีที่สุดแล้ว แต่ผลที่ออกมายังไม่เป็นที่พอใจหรือผลงานยังไม่เสร็จ ผลงานยังไม่ดีพอ นั้นหมายถึง "ดีที่สุดแล้วของเรา" ยังดีไม่พอ
ไม่มีใครสนใจว่า เราทำดีที่สุดแล้ว
ทุกคนสนใจแค่ว่า "งานเสร็จ เรียบร้อย ประสิทธิภาพหรือไม่"
เปลี่ยนจาก "เราทำดีที่สุดแล้ว" 👉 เป็น "ทำงานจนเสร็จสิ้นและสมบูรณ์"
2️⃣ ไม่มีใครเก่งกว่าเรา เราสามารถทำงานได้เทียบเท่าหรือดีกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
อย่าเข้าใจผิดว่า การที่เราใช้ภาษาเยอรมันได้ไม่เก่งเทียบเท่าเจ้าของภาษา จะหมายความว่า ความสามารถในการทำงานของเราด้อยกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ตรงกันข้าม เพราะการที่เรารู้ตัวว่า ภาษาเรายังไม่ดี ทำให้เราพยายามมากขึ้น ทำงานรอบคอบยิ่งขึ้น
3️⃣ ไม่มีใครทำให้เราแพ้หรือล้มเหลวได้ จนกว่าเราจะยอมแพ้เอง
- ถ้าเพื่อนร่วมงานไม่เคารพและดูถูกเรา นั้นเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราพยายามมากขึ้น ทำงานหนักขึ้น เรียนรู้มากขึ้น จนในที่สุดเราก็จะเก่งขึ้น เปลี่ยนความคิดเหล่านั้นให้เป็นแรงผลักดัน เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
- ถ้าเราเจองานที่หนักและยาก เราก็แค่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ในสิ่งที่เราไม่รู้
4️⃣ ไม่ใช่เพื่อนร่วมงานทุกคนที่ชอบเรา แต่ก็ไม่ใช่เพื่อนร่วมงานทุกคนที่สำคัญ
ถ้าเราทำงานดีที่สุดแล้วและมีประสิทธิภาพ แต่เพื่อนร่วมงานยังไม่ชอบเรา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม (อาจเป็นเหตุผลส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน) นั้นเป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบเรา และโดยส่วนตัวแล้ว เราก็ไม่ได้ชอบทุกคน
5️⃣ ไม่มีอะไรตายตัว บริษัทสามารถหาคนมาทำงานแทนเราได้ทุกเมื่อ (Jeder ist ersetzbar)
ต่อให้เราคิดว่า เราเก่ง มีความรู้ ความสามารถมากแค่ไหน แต่ถ้าเราทำผลประโยชน์ให้กับบริษัทไม่ได้ บริษัทก็ไม่ต้องการเรา และเขาสามารถหาคนมาทำงานแทนเราได้ทุกเมื่อ
คำแนะนำง่ายๆจากประสบการณ์ที่เราได้รับมา
จากบทเรียนต่างๆที่เราได้เรียนรู้มา และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราทำเอง เพื่อให้ชีวิตการทำงานมีประสิทธิภาพและง่ายขี้น
1️⃣ จดบันทึกในสิ่งที่คุณได้เรียนรู้
เวลาเริ่มงานใหม่ เรียนรู้ขั้นตอนการทำงานให้ถูกต้อง ใช้เวลาทำความเข้าใจให้ดีที่สุด แล้วจดบันทึกเพื่อให้สามารถกลับมาดูทีหลังได้
ถ้าคุณถามเพื่อนร่วมงานครั้งแรก ครั้งที่สอง เขายินดีตอบ แต่ถ้าคุณถามครั้งที่ 3..4..5 ในเรื่องเดิมๆ เขาอาจจะรำคาญ ไม่อยากตอบ และจะคิดว่าคุณไม่ใส่ใจในเนื้อหาของงาน
2️⃣ เรียนรู้เพื่อนร่วมงานของคุณ
ทุกคนมีลักษณะ แนวทาง เทคนิคการทำงานที่ต่างกัน เรียนรู้ลักษณะการทำงานของเพื่อนร่วมงาน เพราะจะทำให้การทำงานของคุณง่ายขึ้น
3️⃣ ตรงต่อเวลา
การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่คนเยอรมันให้ความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการมาทำงาน หรือการเข้าร่วมประชุมต่างๆ ถ้าคุณมาสาย คนเยอรมันถือว่าเป็นการเสียมารยาทมาก เพราะคุณทำให้คนอื่นเสียเวลาไปกับคุณด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกี่ยวกับงาน การไม่ตรงต่อเวลา ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมัน
4️⃣ อย่าเกี่ยงงาน
ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานที่คุณคิดว่าง่ายแค่ไหน งานแบบนี้เด็กๆก็ทำได้ หรือคุณไม่ได้ใช้ความสามารถที่เรียนมาเลยก็ตาม ทำให้เสร็จอย่างมีประสิทธิภาพก่อน พอหัวหน้างานเห็นว่าคุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เขาก็จะให้คุณทำงานที่ยากขึ้นเอง
ในทางกลับกัน ถ้างานง่ายๆ แต่คุณไม่ตั้งใจทำ ทำได้ไม่ดี มีข้อผิดพลาด ก็จะกลายเป็นว่า แค่งานง่ายๆยังทำไม่ได้ แล้วจะทำงานที่ยากขึ้นได้อย่างไร
5️⃣ ก่อนที่เราจะเป็นผู้นำที่ดีได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ตามที่ดีให้ได้ก่อน
เรียนรู้ระบบงาน เนื้อหาของงานให้เข้าใจจนชัดเจนและทำงานนั้นให้ได้ดีที่สุดก่อน แล้วค่อยคิดที่จะปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้ดีขึ้น
เพราะถ้าคุณไม่รู้จริง แล้วพยายามเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงาน คุณอาจจะถูกมองว่าเป็นคนที่คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง รู้ดีไปหมดทุกเรื่อง (ภาษาเยอรมัน เรียกว่า Klugscheißer)
6️⃣ ขอผลประเมินการทำงานของคุณจากเพื่อนร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ
ถามผลการประเมินงานจากเพื่อนร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ ทำให้คุณรู้จุดยืน ข้อดีและข้อด้อยของตัวเอง ที่สามารถนำมาปรับปรุง ต่อยอด หรือ พัฒนาเพิ่มเติมได้
คุณอาจจะไม่ใช่ Azubi แล้ว แต่การพัฒนาตัวเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญเสมอ เพราะการพยายามพัฒนาตัวเอง หาแหล่งความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ จะทำให้รู้สึกว่า ชีวิตมีอะไรใหม่ๆให้ลองอยู่ตลอดเวลา
ไม่มีบริษัทไหน ตำแหน่งงานไหน เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานคนไหนที่ ดีที่สุดหรือแย่ที่สุด
ดีที่สุด คือ การเลือกสิ่งที่เราต้องการและเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของเรามากที่สุด
ส่วนตัวเรารู้สึกว่าตัวเองเลือกโชคดีและตัดสินใจถูกที่เลือกทำ Ausbildung แทนการเรียนต่อ เพราะเราได้เรียนรู้ ได้ทำงานจริงๆ และที่สำคัญได้ประสบการณ์ในการทำงานที่จำเป็นในชีวิตการทำงานจริงๆ
Leave a Review