Ausbildung

9 เทคนิค พิชิตใจเพื่อนร่วมงานคนเยอรมัน

การทำ Ausbildung ไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะภาษาการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนรวมกันอีก เราเทคนิค พิชิตใจเพื่อนร่วมงานคนเยอรมัน – Tipps ง่ายๆ และข้อควรรู้ต่างๆ… เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพที่สุด

จริงหรือที่เพื่อนร่วมงานชาวเยอรมัน หรือ deutsche Kollegen นั้น ทำงานมีประสิทธิภาพมากก็จริง แต่ไม่ค่อยมีความสนุกสนานในที่ทำงานเอาเสียเลย…

จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสมาโดยตรงทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ส่วนใหญ่ก็จริงค่ะ 😁😁

Erst die Arbeit, dann das Vergnügen!

ทำงานก่อน เรื่องสนุกเอาไว้ทีหลัง

แน่นอนว่า ถ้าคุณอยู่ที่เยอรมนีหรือวางแผนจะมาใช้ชีวิตที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เรียนต่อ หรือแค่ในชีวิตประจำวัน คงหลีกเลี่ยงการติดต่อสื่อสารกับคนเยอรมันไม่ได้

บทความนี้เรามี ข้อมูล และเทคนิค เพื่อพิชิตใจเพื่อนร่วมงานคนเยอรมัน Tipps ง่ายๆ แต่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยให้การทำงานกับเพื่อนร่วมงานคนเยอรมันของคุณง่ายยิ่งขึ้น

Deutsche Kollegen
เทคนิค พิชิตใจเพื่อนร่วมงานคนเยอรมัน

วัฒนธรรมการทำงานมักจะหล่อหลอมมาจากลักษณะนิสัยของคนในชาติ เป็นที่รู้กันดีว่าคนเยอรมันนั้น เป็นผู้ที่มีความจริงจังและมุ่งมั่นมากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือ เรื่องส่วนตัว

ชาวเยอรมันค่อนข้างที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีความยุติธรรมมากกว่าที่คุณอาจพบในประเทศและวัฒนธรรมอื่นๆ ความเป็นธรรมในที่นี้ ไม่ใช่แค่การได้รับค่าแรงและสวัสดิการจากการทำงานที่เหมาะสมเท่านั้น ยังรวมไปถึงวินัยในการใช้ชีวิตและหลักปฏิบัติทางสัมคมต่างๆอีกด้วย

เช่น พนักงานจะไม่ถูกคาดหวังให้ทำงานเกินชั่วโมงที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างงาน เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่คุณควรรู้เมื่อต้องการ พิชิตใจเพื่อนร่วมงานคนเยอรมัน

เวลาเป็นสิ่งมีค่า

การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ไป-มาตรงเวลา แต่ยังรวมไปถึง การส่งงาน ตารางงานต่างๆ การประชุมเริ่มและสิ้นสุดลงตามเวลาที่กำหนด นอกจากจะเป็นกรณีพิเศษไม่เพียงแต่ในเรื่องของธุรกิจเท่านั้น เรื่องส่วนตัวชาวเยอรมันก็ให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลามากเช่นกัน

การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะเป็นแรงผลักดันในการเพิ่มประสิทธิภาพในตัวเองแล้ว ยังทำให้เพื่อนนร่วมงานเชื่อมั่นและยอมรับในประสิทธิภาพความเป็นมื่ออาชีพของคุณมากขึ้นด้วย

ถ้าคุณมาสายหรือส่งงานไม่ตรงเวลา 👉 คุณทำให้เพื่อนร่วมงานสูญเสียเวลาอันมีค่าของเขา แย่ไปกว่านั้น คือ ทั้งทีมต้องเสียเวลาเพื่อรอคุณคนเดียว

ประสิทธิภาพในการทำงาน

เยอรมนีเป็นประเทศระดับต้นๆของประเทศในแทบยุโรป ที่ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานสูงมาก ไล่เลี่ยกับประเทศอย่าง สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ หรือ ลักเซมเบิร์ก

เพื่อนร่วมงานชาวเยอรมันจะพูดคุยเรื่องทั่วไประหว่างทำงานน้อยมาก นอกจากระหว่างเวลาพักกลางวัน ยิ่งเป็นเรื่องส่วนตัวจะน้อยมาก โดยเฉพาะในการประชุมหรือการนำเสนองาน คนเยอรมันจะไม่พูดอ้อมค้อม จะตรงเข้าประเด็นทันที อย่างที่บอกไปแล้วว่าเวลาเป็นสิ่งมีค่า

Tipps 👉 ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่พูดเข้าประเด็นทันที อย่าอ้อมค้อม

ระบบการทำงานมีโครงสร้างที่ชัดเจน

วัฒนธรรมการทำงานของชาวเยอรมันสะท้อนถึงลักษณะนิสัยของคนในชาติเองได้เป็นอย่างดี ชาวเยอรมันมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความปลอดภัยที่สุด

ถ้าพูดถึงระบบการทำงานที่มีโครงสร้างที่ชัดเจน อีกอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ เวลาในการทำงาน เช่น “เวลาเข้างาน หรือ เลิกงาน” ทันทีที่ห้าโมงเย็นหรือได้เวลาเลิกงาน หลายคนจะวางดินสอ ปากกา ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์และออกจากสำนักงานทันที ชาวเยอรมันไม่ค่อยสนับสนุนให้มีการทำงานล่วงเวลาเท่าไหร่

แต่ถ้าในกรณีที่คุณไม่สามารถเลิกงานได้ตรงตามเวลาหรือมีงานด่วนที่ต้องจัดการให้เสร็จจริงๆ การทำงานล่วงเวลาจะสามารถนำเวลาไปเฉลี่ยกับเวลาทำงานของวันอื่นๆ หรือ บางบริษัทสามารถเปลี่ยนค่าล่วงเวลาเป็นค่าแรงได้

แยกระหว่างเวลาทำงานกับชีวิตส่วนตัวอย่างชัดเจน

วัฒนธรรมการทำงานในเยอรมนีขีดเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเวลาทำงานกับชีวิตส่วนตัว เช่น ระหว่างพักกลางวัน จะไม่มีการพูดคุยโทรศัทพ์กับลูกค้า หรือ งานที่ต้องทำให้เสร็จ ถ้างานที่ทำยังไม่เสร็จก็ค่อยมาทำต่อหลังเวลาพัก หรือ วันถัดไป

ช่วงเวลาที่คุณพลิกแล็ปท็อปปิดในบ่ายวันศุกร์และก้าวออกจากประตูสำนักงาน ก็เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์สำหรับคุณจริงๆ หรือถ้าเป็นวันหยุดพักร้อนก็เช่นกัน

อย่างครอบครัวเรา เวลาลาพักร้อนไม่ว่าจะเป็น 2 วัน หรือ หนึ่งเดือน เราเองไม่เคยเช็คอีเมลจากที่ทำงานเลย สามีก็เช่นกัน ถึงแม้เขาจะทำงานอยู่ในระดับหัวหน้างานก็ตาม เพราะแต่ละครั้งก่อนจะลาพักร้อน คนส่วนใหญ่ก็จะเขียนจดหมายตอบรับอัตโนมัติ (eine automatische E-Mail-Antwort) ที่แจ้งไว้อย่างขัดเจนว่า ผู้ที่ติดต่อเข้ามาจะสามารถติดต่อเราได้เมื่อไหร่ หรือ ถ้ามีอะไรเร่งด่วน เขาสามารถติดต่อใครได้

เพื่อนร่วมงานไม่ใช่เพื่อนของคุณ (Kollegen ≠ Freunde)

ขาวเยอรมันแยกอย่างขัดเจน ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และ เพื่อนที่ออกไปแฮงเอาท์กันหลังเลิกงาน หรือ พบปะกันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ชาวเยอรมันรุ่นหลังๆ อาจจะมีบ้างที่ออกไปสังสรรค์กันหลังเลิกงาน

การทำงานเป็นทีม

เพื่อนร่วมทีมทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นของตัวเอง และเพื่อนร่วมงานก็คาดหวังในความรับผิดชอบของคุณสูงมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นแค่ พนักงานฝึกงาน (Azubi) ก็ตาม ทุกคนจะรู้สึกรับผิดชอบต่อข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อมีคนล้มเหลวในการปฏิบัติหน้า ปัญหาก็จะตกอยู่ที่เพื่อนร่วมงานด้วย การทำงานร่วมกันและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองจึงสำคัญมาก

แสดงออกถึงความเคารพ

ถ้าคุณได้เรียนหลักสูตรภาษาเยอรมันมาบ้างแล้ว คิดว่าคุณคงรู้ดีว่ามารยาทที่เป็นทางการนั้นมีรากฐานมาจากภาษา ที่มีความแตกต่างในภาษาเยอรมันระหว่าง “Sie” (คุณ) ที่ใช้เป็นทางการ และ “Du” (คุณ) ที่ใช้ไม่เป็นทางการ ซึ่งแตกต่างจากภาษาอื่นๆ

ในบริษัทขนาดเล็กที่มีลำดับชั้นในที่ทำงานไม่มาก ก็จะดูแตกต่างไปจากบริษัทหรือองกรค์ขนาดไหญ่ ที่มีความเป็นทางการมากขึ้นตามไปด้วย

ใครไม่สบายก็ควรหยุดอยู่บ้าน

ชาวเยอรมันจะรีบไปพบแพทย์ทันทีที่รู้สึกไม่สบาย ปวดหัว ตัวร้อน หรือเป็นหวัด เพราะถ้าคุณไม่สบาย อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของคุณได้ นอกจากนี้ถ้าไม่สบายเกินสามวัน คุณต้องแสดงใบรับรองแพทย์ต่อบริษัทด้วย

Achtung 👉 พนักงานฝึกงาน(Azubi)จำเป็นต้องยื่นใบรับรับรองแพทย์ต่อบริษัทตั้งแต่วันแรกที่ไม่สบาย

คนเยอรมันเริ่มทำงานเช้ามาก (Der frühe Vogel fängt den Wurm!)

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะเห็นเพื่อนร่วมงานบางคนมาทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพราะยิ่งเริ่มงานเร็วเท่าไหร่ คุณก็จะสามารถเลิกงานได้เร็วเท่านั้น

พูดง่ายๆ คือ คุณสามารถเลิกงานตอนบ่าย 3 โมง แล้วยังมีเวลาช่วงบ่ายสำหรับทำกิจกรรมส่วนตัวได้อีกด้วย นี้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในเวลาทำงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติของ นายจ้างที่ดี (guter Arbeitgeber) ที่สำคัญมาก

Achtung 👉 กฏหมายแรงงานของเยอรมันมีกำหนดไว้อย่างชัดเจนนะคะ 
ว่าคุณจะต้องมีเวลาสำหรับพักผ่อนจากการทำงานเป็นเวลานานเท่าไหร่

อะไรที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานชาวเยอรมันรำคาญ หรือ เรื่องที่จะเป็นปัญหาเมื่อต้องทำงานกับคนเยอรมันมากที่สุด

นี้คือข้อมูลที่ได้จากเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมันของเราเอง 😉😉

  • เพื่อนร่วมงานที่ถามบ่อย ถามหลายรอบ และถามในเรื่องเดิมๆ
  • เพื่อนร่วมงานที่พึ่งพาไม่ได้ ไม่มีความรับผิดชอบ (Unzuverlässigkeit) และ ไม่ตรงต่อเวลา
  • เพื่อนร่วมงานที่ดูเหมือนจะรู้ทุกอย่าง ประเภท “ฉันทำได้ทุกอย่าง ฉันรู้ทุกเรื่อง”
  • เพื่อนร่วมงานที่คอยเกาะติดเจ้านาย เรียกง่ายๆว่าชอบ “เลียแข่ง เลียขา” นั้นเอง
  • คุยโทรศัพท์เสียงดัง

ไม่ว่าคุณจะทำงานที่เมืองไทย หรือ ทำงานกับคนเยอรมัน สิ่งที่เหมือนกัน คือ การปรับตัวและเรียนรู้เพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก ซึ่งก็มีหลายประเภท ที่จำเป็นต้องมีการรับมือที่แตกต่างกันออกไป

เราไม่สามารถเลือกคนที่เราจะต้องทำงานด้วยได้เสมอไป แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของเราเอง และเรียนรู้ที่จะรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่มักจะสร้างปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้