Kollegen

7 ประเภท เพื่อนร่วมงานยอดแย่ & วิธีจัดการ

Cshow

Kollegen kann man sich nicht aussuchen – เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ ซึ่งก็จริง เพราะเราไม่สามารถเลือกได้ว่า เราต้องทำงานร่วมกับใครบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นสังคมการทำงานของชนชาติไหน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอเพื่อนร่วมงานหลากหลายประเภท ยิ่งคุณทำงานกับเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมัน ที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากไทยพอสมควร ยิ่งต้องระมัดระวังเพิ่ม

อย่าลืมว่า ไม่ใช่เพื่อนร่วมงานของคุณทุกคน ที่เชียร์ให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และหวังดีกับคุณ

บทความนี้เรามี 7 ประเภท ของเพื่อนร่วมงานยอดแย่ ที่นอกจากจะทำให้คุณไขว้เขวแล้ว อาจจะเลวร้ายไปกว่านั้น นั่นคือ ดึงให้คุณตกต่ำลงไปกับพวกเขาด้วย

มาดูกันว่ามีแบบไหนบ้าง

Deutsche Kollegen

นี่คือเพื่อนร่วมงานที่คุณควรหลีกเลี่ยง 

1️⃣ คนที่ชอบนินทาชาวบ้าน

เพื่อนร่วมงานที่ชอบเรื่องดราม่า เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ใครรักใคร  ใครเกลียดใครในออฟฟิศ รู้หมดทุกเรื่อง ซึ่งบทสนทนาจะเริ่มด้วย ประโยค เช่น Hast du gehört… หรือ Ich habe gehört…

❌ อย่าลืมว่า ถ้าเขานินทาเรื่องของคนอื่นกับคุณได้ เขาก็นินทาเรื่องของคุณกับคนอื่นได้เช่นกัน  

2️⃣ คนที่ทำงานเรื่อยๆ ทำไปวันๆ 

นี่คือเพื่อนร่วมงานที่ทำงานเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ ทำแค่ให้เวลาผ่านไปวันๆ ทำงานแค่ไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ได้ต้องการพัฒนาตัวเอง หรือมีความคิดใหม่ๆเพื่อเพิ่มคุณค่าในตัวเองและที่ทำงาน

เพื่อนร่วมงานแบบนี้อาจจะดูไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่ถ้าคุณใช้เวลาร่วมกับคนที่มีทัศนคติแบบนี้บ่อยๆ ทัศนคติแบบนี้จะสร้างความเฉื่อยชาให้กับเพื่อนร่วมทีม รวมทั้งตัวคุณเองด้วย 

3️⃣ เพื่อนร่วมงานขี่บ่น

เพื่อนร่วมงานที่ชอบบ่น บ่นมันได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เนื้อหาของงานจนไปถึงอาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยว ที่ได้บริษัทจัดบริการให้พนักงาน ฟรีๆ!

การมีเพื่อนรวมงานแบบนี้จะทำให้คุณเสียสุขภาพจิตไปด้วย 

4️⃣ คนที่เอาดีเข้าตัว 

งานไม่ค่อยทำ หรือทำนิดๆหน่อยๆ แต่เอาความดีใส่ตัว พูดเสียงดังเฉพาะเวลาเจ้านายเดินผ่าน

👉 ถ้าคุณต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานประเภทนี้ ต้องระมัดระวัง และควรเสนอความคิด แสดงผลงานและทำดีให้ถูกคน 

5️⃣ เพื่อนร่วมงานที่ชอบแชร์ แบบเกินความจำเป็น

เพื่อนร่วมงานนี่ชอบเล่าทุกอย่าง เล่ามันทุกเรื่อง ประเภทที่ชอบใช้การประชุมนัดหมายของทีมเป็นห้องบำบัดจิตของตัวเอง

จริงๆแล้ว การทักทาย ถามทุกข์สุขหลังจากวันหยุดยาว หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นเรื่องปกติธรรมดาและควรทำ แต่เรื่องบางเรื่องที่เป็นส่วนตัวจนเกินไป ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน ก็ไม่ควรเล่าหรือถาม

ดูเผินๆอาจจะดูเป็นมิตรดี แต่ถ้าคุณไม่ระมัดระวัง เพื่อนร่วมงานประเภทนี้จะทำให้คุณขาดสมาธิ หรือ ขาดโฟกัสได้ง่ายๆ

6️⃣ เพื่อนร่วมงานหน้าไหว้หลังหลอก 

เพื่อนร่วมงานที่ยิ้มแย้ม ต่อหน้าทำเป็นดี แต่พอลับหลังก็นินทาหรือหาทางใส่ร้ายเราหรือเพื่อนร่วมงานคนอื่น คนแบบนี้น่ากลัวและอันตรายที่สุด เพราะชอบพูดปากอย่างใจอย่าง พูดกับเราแบบหนึ่ง ลับหลังเราเอาเรื่องเราไป นินทาสารพัด

แนะนำว่าถ้าเจอแบบนี้ ให้สร้างขอบเขตที่ชัดเจน ติดต่อเกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น แค่เรื่องงานเท่านั้น

7️⃣ คนอื่นผิดตลอด 

Kollegen

เพื่อนร่วมงานที่โทษคนอื่นตลอด ไม่เคยโทษตัวเองหรือไม่เคยยอมรับความผิดพลาดอะไรเลย 
งานเสร็จไม่ทัน โทษว่ามีงานเยอะ หรือไม่ก็โทษคนอื่น 

ถ้าคุณทำงานกับคนแบบนี้ งานที่เขาทำไม่เสร็จอาจจะตกลงมาบนบ่าของคุณได้ 

จัดการกับเพื่อนร่วมงานยอดแย่ ยังไงดี 🤔

1️⃣ หลีกเลี่ยงไม่เข้าร่วมวงสนทนา

บางครั้งการหลีกเลี่ยง ไม่ร่วมวงสนทนาก็เป็นไปได้ยาก เช่น ขณะที่คุยกำลังคุยกับเพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมงานที่ชอบนินทา หรือ อยากรู้อยากเห็นก็เดินเข้ามาร่วมวง คุณอาจจะหาข้ออ้าง เพื่อไม่ร่วมวงเม้ามอยได้ เช่น ต้องไปเข้าห้องน้ำ หรือ มีงานด่วน ต้องรีบทำให้เสร็จ

2️⃣ จำกัดการโต้ตอบ

ด้วยการลดการติดต่อของคุณกับเพื่อนร่วมงานให้เหลือน้อยที่สุด ถ้าจำเป็นต้องตอบโต้ ก็ทำอย่างสุภาพ หลีกเลี่ยงการโต้ตอบทางอารมณ์ต่อพฤติกรรมของพวกเขา เพราะอาจเพิ่มความตึงเครียดในระหว่างการทำงานได้

3️⃣ กำหนดขีดจำกัดและขอบเขตของคุณให้ชัดเจน

สื่อสารอย่างสุภาพแต่หนักแน่นว่าพฤติกรรมไหนที่คุณจะไม่ยอมรับ

คนเยอรมันค่อนข้างตรงไปตรงมา ถ้าเขาไม่ชอบในสิ่งที่คุณทำ ส่วนใหญ่เขาจะพูดทันที โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องงาน ดังนั้นถ้าคุณไม่สบายใจเรื่องอะไร ก็สามารถพูดได้ตรงๆ

4️⃣ ยุ่งเกี่ยวด้วยให้น้อยที่สุด

ลดการติดต่อของคุณกับเพื่อนร่วมงานให้เหลือน้อยที่สุด ใส่ใจให้น้อยลง มุ่งเน้นไปที่งานและความรับผิดชอบของคุณเป็นหลัก

ถึงแม้ว่าเราจะเลือกเพื่อนร่วมงานไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกได้ว่า ใครควรมีอิทธิพลและผลต่อการเติบโตของเราได้ 

กลุ่มคนที่เราใช้เวลาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือสังคมเพื่อนที่เราคบมีผลทำให้เราเติบโตขึ้น ก้าวไปข้างหน้า หรือก้าวถอยหลังได้

ดังนั้น…เลือกให้ดี

Cshow