Ausbildung

ประกันสังคมในเยอรมนี ประกันอะไรบ้าง

Sozialversicherung – ประกันสังคมในเยอรมนี ประกันอะไรบ้าง… 🤔 รู้ไหมว่า ในแต่ละเดือนบริษัทหักค่าอะไรบ้าง ก่อนจะเหลือเงินเข้าถึงบัญชีของคุณจริงๆ… Sozialversicherung หรือประกันสังคม… ประกันอะไรบ้าง

คนที่ทำงานในเยอรมนี นอกจากจะต้องเสียภาษีเงินได้แล้ว ทุกคนยังจะต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมอีกด้วย

ประกันสังคมที่เราจ่ายไปทุกเดือน มีการประกันอะไรบ้าง… แล้วทำไมการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

บทความนี้ เรามีคำตอบ

เงินเดือน Brutto & Netto ต่างกันอย่างไร

Brutto คือ เงินเดือนที่ยังไม่ได้หักเงินสมทบประกันสังคมและภาษี 
เงินจำนวนนี้ คือ เงินเดือนที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างงานของคุณ (Ausbildungsvertrag)


Netto คือ จำนวนเงินสุทธิที่บริษัทจ่ายเข้าบัญชีของคุณในทุกเดือน หลังจากหักเงินสมทบประกันสังคมทั้งหมดและภาษีเรียบร้อยแล้ว

ตามพระราชบัญญัติการฝึกอาชีพ (Berufsbildungsgesetz) ตั้งแต่ปี 2565 ผู้ทำ duale Ausbildung จะได้รับค่าตอบแทนการฝึกอบรมขั้นต่ำ คือ อย่างน้อย 649.- ยูโร ต่อ เดือน ในปีแรกของการฝึกอบรม

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียนสายอาชีพและการเรียนภาษาเยอรมัน สามารถดูได้จากบทความเหล่านี้เลยค่ะ

ทำไมต้องจ่ายประกันสังคม

คำตอบง่ายๆ คือ

👉 เพื่อรักษามาตรฐานในการครองชีพของเรา

👉 เพื่อให้เราได้รับสิทธิ์และรับความช่วยเหลือจากทางรัฐบาล ในกรณีดังต่อไปนี้

  • การเจ็บป่วย คุณสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที
  • ลาคลอดบุตร หรือ ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร (Elternzeit)
  • การสูญเสียรายได้ในกรณีการว่างงาน
  • อุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่าง หรือ จากการทำงาน
  • เพื่อให้คุณมีผู้ดูแลในวัยชรา

ใครจ่ายเงินสมทบ ประกันสังคมในเยอรมนี

พนักงาน และ ผู้ทำ Ausbildung ทุกคนต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคม เป็นการจ่ายเงินสมทบภาคบังคับ นั้นหมายถึง ทุกคนที่ทำงานจำเป็นต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนี้

บริษัทและคุณมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกันคนละครึ่ง บริษัทจะหักเงินส่วนนี้จากเงินเดือนของคุณ (Brutto) ส่งไปพร้อมกับเงินสมทบประกันสังคม ส่วนที่บริษัทรับผิดชอบไปยัง ประกันบำนาญของเยอรมนี (deutsche Rentenversicherung) และไปยังสำนักงานจัดหางานของเยอรมนี (สำหรับประกันการว่างงาน)

ประกันสังคมในเยอรมนี ประกันอะไรบ้าง

หลักประกันสังคม 5 ประการ ประกอบด้วย

1️⃣ Krankenversicherung (ประกันสุขภาพ)

2️⃣ Pflegeversicherung (ประกันการดูแลในวัยชรา)

3️⃣ Rentenversicherung (เงินบำเหน็จบำนาญ)

4️⃣ Arbeitslosenversicherung (ประกันการว่างงาน)

5️⃣ Unfallversicherung (ประกันอุบัติเหตุ)

ประกันประเภทที่ 1-4 บริษัทและคุณมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกัน แต่ประกันอุบัติเหตุ นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแต่เพียงผู้เดียว

มาดูรายละเอียดของประกันแต่ละประเภทกันว่า ครอบคุมอะไรบ้าง

✅ Krankenversicherung (ประกันสุขภาพ)

ตามกฎหมายคุณต้องทำประกันภาคบังคับกับบริษัทประกันสุขภาพ
คุณมีเวลา 14 วัน นับจากเริ่มการทำ Ausbildung เพื่อทำประกันกับบริษัทประกันสุขภาพที่คุณเลือก

ประกันสุขภาพครอบคลุมค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วย ลาคลอด และ ลาเลี้ยงลูก (Elternzeit)เป็นต้น 

กรณีที่เจ็บป่วยนานกว่า 7 สัปดาห์
ในช่วง 6 สัปดาห์แรก บริษัทจะยังคงจ่ายเงินเดือนให้คุณต่อไป หลังจากนั้น คุณจะได้รับเงิน ค่าเจ็บป่วยจากบริษัทประกันสุขภาพ แต่จะไม่ได้รับเต็มจำนวนเงินเดือน

เงินสมทบในการประกันสุขภาพถูกกำหนดโดยกฎหมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกันตนกับบริษัทประกันสุขภาพแห่งใดก็ตาม จำนวนเงินที่จ่ายไม่ต่างกัน 

Pflegeversicherung (ประกันการดูแลในวัยชรา)

เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะมีผู้ดูแลในวัยชรา ในวันที่คุณไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้คุณต้องจ่ายเงินประกันการดูแลระยะยาวเพิ่มมาด้วย

Rentenversicherung (ประกันเงินบำเหน็จบำนาญ)

การจ่ายเงินประกันบำเหน็จบำนาญตามกฎหมาย เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณ เพราะนี่คือเงินรายได้ ที่คุณจะได้รับ เมื่อคุณเกษียณอายุและไม่สามารถทำงานได้อีก เพื่อให้คุณจะยังมีรายได้เพียงพอในวัยชรา และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ประกันบำเหน็จบำนาญ มี 3 ประเภท 
แต่ละประเภทมีกฏเกณท์และข้อกำหนดหลายอย่างแตกต่างกันออกไป ที่ผู้ขอรับสิทธิ์ต้องมีให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด ถึงจะได้รับสิทธิ์นั้น 

👉 เงินบำนาญเมื่อคุณป่วย กรณีที่รายได้ลดลง เพราะไม่สามารถทำงานได้ 

👉 เงินบำนาญเมื่อคุณเกษียณอายุ(ได้รับเมื่อคุณอายุ  67 ปี)

👉 เงินบำนาญในกรณีที่มีคนเสียชีวิต เช่น สามี หรือ ภรรยา คนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้รับเงินบำนาญ

เงินบำนาญจะมีการคำนวณเป็นรายบุคคล เมื่อคุณเริ่มทำงานกับบริษัทบริษัทจะลงทะเบียนประกันบำเหน็จบำนาญของคุณกับประกันบำเหน็จบำนาญ 
(deutsche Rentenversicherung) 

คุณต้องแสดงบัตรประกันสังคม หรือ หมายเลขประกันสังคมของคุณต่อนายจ้างเมื่อเริ่มการทำ Ausbildung 

สำหรับใครที่สามารถทำได้ แนะนำ การทำประกันการเกษียณอายุที่เป็นของเอกชนไว้ด้วย เพื่อความปลอดภัยเพิ่มเติม 
การเกษียณอายุในเยอรมนี  คุณสามารถรับเงินบำนาญได้เมื่อคุณอายุ  67 ปี
ดังนั้นยิ่งคุณเริ่มจ่ายเงินสมทบเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อคุณเท่านั้น 

Arbeitslosenversicherung (ประกันการว่างงาน)

ผู้ที่ทำงาน หรือ Ausbildung ทุกคนจะต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อประกันการว่างงาน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินจากการว่างงาน ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ 
ผู้ประกันตนจะได้รับผลประโยชน์ทั้งจากการว่างงานระยะสั้นหรือระยะยาว

แต่...

คุณมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากการว่างงานก็ต่อเมื่อคุณได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 12 เดือน

Unfallversicherung (ประกันอุบัติเหตุ)

อันนี้คือการประกันอุบัติเหตุต่าง ๆที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน หรือจากการปฏิบัติงาน 
ประกันอุบัติเหตุถือเป็นข้อยกเว้น นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแต่เพียงผู้เดียว

อีกอย่างที่อยากแนะนำ นั้นคือ

การออมเงินสมทบของบริษัท (die betriebliche Altersvorsorge – bAV )

เป็นออมเงินสมทบประกันสังคมเสริม เพิ่มมาจากของรัฐบาล โดยความสมัครใจของเราเอง

ข้อดี คือ

  • เงินจำนวนนี่จะมีการหักออก ก่อนที่จะมีการหักส่วนที่เป็นเงินสมทบประกันสังคม และภาษี ทำให้เราต้องเสียภาษีเงินได้น้อยลง
  • บริษัทจ่ายเงินเพิ่มทับส่วนที่เราหักออมไว้ เป็นการเพิ่มผลตอบแทน
  • สะดวก เพราะนายจ้างดูแลเรื่องการทำสัญญาและเงินสมทบต่างๆ

ข้อเสีย คือ หลังจากที่เราเกษียณอายุแล้ว เราจะต้องจ่ายภาษีสำหรับเงินส่วนที่เราได้รับด้วย

ใครที่สนใจ สามารถสอบถามกับฝ่ายบุคคลที่บริษัทที่คุณทำงานได้ว่า บริษัทมี โครงการเงินออมสมทบของบริษัทหรือไม่ เปอร์เซ็นต์เงินสมทบของแต่ละบริษัทอาจจะไม่เท่ากัน

เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เราไม่มีทางรู้เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า

ดังนั้นการว่างแผนและเตรียมตัวที่ดีตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

เราอยากให้คุณแน่ใจว่า คุณวางแผนและเตรียมตัวเพื่ออนาคตในวันข้างหน้าอย่างดี เพราะมาตรฐานการใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของคุณ