Kündigung – ยกเลิกสัญญาการฝึกอบรม ถ้าคุณมีความสุขและสนุกกับการทำงาน ช่วงทดลองงาน และช่วงระยะเวลาในการทำฝึกอบรม ก็จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว คุณจะมีพลังและแรงผลักดันที่จะเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ทั้งยังสนุกและพร้อมรับหน้าที่ใหม่ๆที่คุณได้รับอยู่เสมอ
แต่…
อย่างไรก็ตาม สิ่งต่าง ๆ ที่คุณไม่คาดฝัน สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น เนื้อหางานของอาชีพที่คุณเลือก บริษัท หรือ การเรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพ ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คุณคาดหวังไว้
สุดท้ายอาจจะรู้สึกว่าอาชีพดังกล่าวที่คุณเลือกไม่เหมาะกับคุณ ทำให้นึกอยากเปลี่ยนอาชีพ หรือ อยากทำอย่างอื่นขึ้นมาบ้าง…
ถ้านี่คือสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่ บทความนี้จะช่วยให้คุณมีข้อมูลมากขึ้น ก่อนจะตัดสินใจลาออก
ระบบการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี มีด้วยกัน 2 แบบ คือ duale Ausbildung (ระบบคู่) และ schulische Ausbildung นะคะ 👉 ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ จาก บทความนี้ เลย ค่ะ
เนื้อหาของบทความนี้ สำหรับการเรียนสายอาชีพ ระบบคู่ นะคะ
มาดูกันว่า เหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ฝึกอบรมตัดสินใจลาออกจากการฝึกอบรม มีอะไรบ้าง
- ไม่ชอบในเนื้อหาของงานที่ทำ อยากเปลี่ยนงานใหม่
- มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หรือ กับโครงสร้างของบริษัทเอง
- มีปัญหาที่โรงเรียนฝึกอาชีพ เช่น เรียนไม่ทันเพื่อนร่วมชั้น เพราะมีปัญหาทางด้านภาษา หรือ เนื้อหาสาระที่เรียนยากจนเกินไป
- มีปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาเรื่องของสุขภาพ ปัญหาในครอบครัว หรือ ปัญหาเรื่องเวลา เป็นต้น
ถ้าปัญหาดังกล่าวไม่ได้มาจากเนื้อหาของงาน คือ คุณไม่ชอบเนื้อหางานที่ทำ ไม่ว่าคุณจะมีปัญหาใดก็ตาม การพูดคุยที่ชัดเจนอย่างเปิดอกกับทางบริษัท เพื่อนร่วมงาน ครูผู้สอนที่โรงเรียนฝึกอาชีพ ครอบครัว หรือ เพื่อนสนิท อาจจะสามารถช่วยหาทางออกให้คุณได้ ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องเวลา มีลูกยังเล็กที่ต้องดูแลและไม่สามารถทำงานเต็มเวลา(Vollzeit)ได้ คุณสามารถตกลงกับบริษัท เพื่อขอทำ Teilzeitausbildung ได้ อีฟเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำงานฝึกอบรม แบบไม่เต็มเวลา จากประสบการณ์ส่วนตัว การฝึกงานแบบไม่เต็มเวลา จะช่วยให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน มีเวลาให้เด็กๆ และยังมีเวลาเพื่อทำอย่างอื่นได้อีกด้วย หากเป็นปัญหาที่คุณไม่สามารถพูดคุยกับทางบริษัทที่ฝึกอบรมได้ หรือ พูดคุยแล้วแต่ไม่ได้ผล คุณสามารถติดต่อและขอคำปรึกษาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ขึ้นอยู่กับว่า คุณเรียนสาขา ไหน เช่น ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับธุรกิจและงานด้านเชิงพานิชย์ หน่วยงานที่รับผิดชอบ หอการค้าและอุตสาหกรรม (IHK) เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวได้ หรือ Ausbildung พยาบาล หรือ งานด้านสุขภาพ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต่างออกไป
การลาออกในระหว่างการทำ Ausbildung สามารถแบ่งออกได้ เป็น 2 แบบ
- การลาออกในระหว่างที่คุณยังอยู่ในช่วงทดลองงาน (Kündigung während der Probezeit)
- การลาออกหลังจากที่คุณผ่านช่วงทดลองงานแล้ว (Kündigung nach der Probezeit)
มาดูรายละเอียดกันว่าการลาออกในระหว่างการฝึกอบรม ทั้ง 2 แบบ มีเนื้อหา และข้อควรปฏิบัติอะไรบ้าง
1️⃣ การลาออกในระหว่างที่คุณยังอยู่ในช่วงทดลองงาน
ระยะเวลาในช่วงทดลองงานของการทำ Ausbildung คือ อย่างน้อย 1 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน
จุดประสงค์ของการทดลองงาน คือ เพื่อให้คุณและบริษัทฝึกอบรมของคุณมีโอกาสได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนจากทั้งสองฝ่ายว่า
👉 ในมุมมองของผู้ฝึกอบรม (คุณ) คือ นี่เป็นอาชีพที่คุณอยากทำจริง ๆ
👉 ในมุมมองของบริษัท คือ คุณมีคุณสมบัติเหมาะสมตำแหน่งงานนี้หรือไม่
ในฐานะผู้ฝึกอบรม ถ้าคุณรู้สึกว่าอาชีพดังกล่าวที่คุณเลือกไม่เหมาะกับคุณ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อาจจะทำให้คุณลังเลและไม่อยากจะไปทำงาน สุดท้ายนำไปสู่การขอยกเลิกสัญญาการฝึกอบรมได้
ในขณะเดียวกัน ถ้าบริษัทฝึกอบรมของคุณ มีความเห็นว่าคุณไม่เหมาะสม หรือไม่สามารถทำงานในตำแหน่งงานนั้นๆ หรือไม่สามารถเข้ากับโครงสร้างของบริษัท ก็สามารถให้คุณออกได้เช่นกัน
👉 ถ้าคุณไม่ชอบบริษัทหรืองานที่ทำ สามารถลาออกได้ทุกเมื่อ โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า หรือ ชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อนายจ้าง 👉 ถ้าบริษัทไม่พอใจในผลงานของคุณ หรือ คิดว่าคุณไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ ก็สามารถให้คุณออกได้ทันที โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า หรือ ชี้แจงเหตุผลใด ๆ เช่นกัน 👉 จดหมายลาออกจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร การลาออกในระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงทดลองงาน ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผล ว่าทำไมคุณถึงต้องการลาออก
2️⃣ ลาออกหลังจากที่คุณผ่านช่วงทดลองงานแล้ว
หลังจากที่คุณผ่านช่วงทดลองงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กลับเกิดมีปัญหาขึ้น และ ไม่สามารถทำการฝึกอบรมต่อได้ คุณสามารถลาออกได้เช่นกัน แต่ขั้นตอนของการลาออกนั้น จะยุ่งยากขึ้นกว่าการลาออกในระหว่างที่คุณยังอยู่ในช่วงทดลองงาน
คณจะต้องตกลง และแจ้งทางบริษัทให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 4 สัปดาห์ พร้อมทั้งต้องแจ้งเหตุผลต่อฝ่ายบุคคลอย่างชัดเจนด้วยว่าทำไม่คุณถึงต้องการลาออก
ในทางตรงกันข้าม ถ้าบริษัทจะยกเลิกสัญญาจ้างที่มีกับคุณ หลังจากที่ผ่านช่วงทดลองงานมาแล้ว เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เพราะหลังจากที่คุณผ่านช่วงทดลองงานมาแล้ว คุณจะได้รับการคุ้มครองการเลิกจ้างจากกฎหมายแรงงานของเยอรมัน บริษัทจะต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นพอสมควร ถึงจะสามารถให้คุณออกจากงานได้ เช่น กรณีเกิดการขโมย หรือ อาชญากรรมต่างๆ เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างการลาออกระหว่างช่วงทดลองงาน และ ลาออกหลังช่วงทดลองงาน

ถ้าคุณตัดสินใจแน่วแน่ว่าตำแหน่งงานดังกล่าว „ไม่ใช่“ สำหรับคุณ นี่คือ สิ่งที่คุณต้องทำ
1️⃣ จดหมายลาออกจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่สามารถบอกปากเปล่าได้ ข้อมูลเกี่ยวกับการเขียนหนังสือจดหมายลาออกที่เป็นภาษาเยอรมัน
2️⃣ ถ้าคุณยังอยู่ในช่วงทดลองงาน ไม่จำเป็นต้องแจ้งเหตุผลของการลาออก แต่ถ้าผ่านการทดลองงานมาแล้ว ต้องแจ้งเหตุผลอย่างชัดเจน
3️⃣ จดหมายลาออกสามารถพิมพ์ หรือ เขียนด้วยลายมือก็ได้ แต่ลายเซ็นต้องเป็นตัวจริงเท่านั้น
4️⃣ การยื่นเอกสารแจ้งการลาออก ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทได้รับเอกสารของคุณ ดีที่สุด คือ การยื่นเอกสารด้วยตัวของคุณเอง เพราะจะทำให้คุณแน่ใจว่า เอกสารนั้นถึงมือบุคคลที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยตรง หลังจากที่คุณยื่นเอกสารแล้ว คุณจะได้รับเอกสารตอบรับการลาออกของคุณ จากบริษัทที่คุณฝึกงาน
หลังจากยื่นหนังสือลาออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่คุณยังกังวลกับอนาคต ไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรต่อไปดี หรือ สามารถทำอะไรได้บ้าง หอการค้าและอุตสาหกรรม (Industrie- und Handelskammer หรือ IHK) รวมถึง กรมแรงงานก็เป็นทางเลือกที่ดี ที่สามารถให้คำแนะนำแก่คุณได้
ไม่ว่าคุณจะต้องการลาออกด้วยเหตุผลอะไร สิ่งที่คุณควรทำ คือ การคิดใตร่ตรองให้รอบครอบ เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ถ้าคุณเข้าไปทำงานที่ใหม่ สถาณการณ์จะดีกว่า หรือ ปัญหาจะน้อยกว่าที่ที่คุณกำลังทำอยู่หรือไม่
Lehrjahre sind keine Herrenjahre
–
ในช่วงระหว่างการทำ Ausbildung เราจะต้องพยายามให้มากเป็นพิเศษ และ บ่อยครั้งต้องทำงานที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ งานที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือ ไม่ได้ช่วยเพิ่มทักษะในสาขาอาชีพที่เราเรียน เช่น ถ่ายเอกสาร ชงกาแฟ หรือ ส่งเอกสาร…
แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องอดทนนั่นเองค่ะ
สู้ๆนะคะ เราเชื่อว่าคุณทำได้
Leave a Review