Ausbildung

Azubi ก็มีเงินเดือนนะ (Ausbildungsvergütung)

Azubi ทุกคน มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนจากการทำ duale Ausbildung

หลายๆ คนได้รับเงินเดือนครั้งแรกในเยอรมนี จากค่าเบี้ยเลี้ยงของการทำ Ausbildung ที่จะเพิ่มขึ้นทุกๆปี รายได้จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน

ในขณะที่พนักงานประจำได้รับเงินเดือน ที่เรียกในภาษาเยอรมันว่า das Gehalt หรือ der Lohn ส่วนผู้ที่รับการฝึกอบรม หรือ Azubi ก็จะได้รับค่าตอบแทนในการทำงาน เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Vergütung หรือ Ausbildungsvergütung จากบริษัทที่ฝึกงาน เพราะในระหว่างที่คุณฝึกงานในบริษัท ห้างร้าน หรือ องค์กรต่างๆ ก็ถือว่าคุณเป็นบุคลากรคนหนึ่งของบริษัทและทำประโยชน์ให้บริษัทเหมือนกับพนักงานประจำเช่นกัน

มาดูความแตกต่างของคำว่า das Gehalt, der Lohn หรือ Ausbildungsvergütung ว่าแต่ละอย่างใช้ต่างกันอย่างไร

Das Gehalt

ทางรัฐบาลได้กำหนดให้ผู้ที่ทำการฝึกอบรมระบบคู่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมที่สุด มาตรฐานสำคัญตามกฏหมายที่ใช้วัดความเหมาะสมของค่าตอบแทนสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  • เงินเดือนของผู้ที่ทำการฝึกอบรมในระบบคู่ในบริษัทหรือองค์กรที่มีข้อตกลงร่วมกันผ่านระบบที่เรียกว่า Tarifsvertrag
  • ค่าตอบแทนขั้นตำตามที่กฎหมายกำหนดไว้

Tarifsvertrag คือ การตกลงร่วมกันระหว่างสมาคมนายจ้าง (Arbeitgeberverbände) และสหภาพแรงงาน (Gewerkschaften) ในเนื้อหาและเงือนไขการทำงานต่างๆ เช่น

  • จำนวนเงินเดือน
  • จำนวนชั่วโมง หรือ เวลาทำงานของพนักงาน
  • การจัดกลุ่มและระดับค่าตอบแทนในแต่ละกลุ่ม
  • จำนวนของวันหยุด
  • การจ่ายเงินพนักงานกรณีเจ็บป่วย ต่างๆเป็นต้น

สมาคมนายจ้าง (Arbeitgeberverbände) เจรจาต่อรองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายจ้าง ตัวอย่างสมาคมนายจ้าง เช่น

  • สมาคมนายจ้างอุตสาหกรรมโลหะและไฟฟ้า
  • สมาคมวิชาชีพแพทย์ เป็นต้น

สหภาพแรงงาน (Gewerkschaften) เจรจาต่อรองเพื่อปกป้องผลเพื่อผลประโยชน์ของพนักงาน

สมาพันธ์สหภาพแรงงานของเยอรมัน (Deutscher Gewerkschaftsbund หรือ DGB) แบ่งแยกสหภาพแรงงานในเยอรมนี ตามสาขาและประเภทของงานต่างๆเช่น

  • สหภาพอุตสาหกรรมโลหะ (die IG Metall) เช่น อุตสาหกรรมโลหะและไฟฟ้า อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น
  • สหภาพแรงงานด้วนบริการ (Vereinte Dienstleistungsgewerkschaft หรือ Ver.di) บริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้เช่น
    • การโรงแรมและการท่องเที่ยว
    • บริการไปรษณีย์ บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
    • การบริการทางการเงิน การสื่อสารและเทคโนโลยี วัฒนธรรม
    • บริการภาครัฐและเอกชน ประกันสังคม
    • ขายปลีกและส่งและการค้าต่างประเทศ
  • สหภาพตำรวจ (Gewerkschaft der Polizei)
  • สหพันธ์อาหารและร้านอาหาร (Gewerkschaft Nahrung- Genuss-Gaststätten หรือ NGG) บริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ
    • โรงแรมและร้านอาหาร
    • อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
  • สหพันธ์การศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Gewerkschaft Erziehung und Wissenschaft หรือ GEW)
    • ผู้ที่ทำงานในโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ
  • สหภาพรถไฟและขนส่ง (Eisenbahn- und Verkehrsgewerkschaft หรือ EVG)

อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้กำหนดแค่ค่าตอบแทนขั้นต่ำเท่านั้น ถ้าบริษัทใจดี ต้องการเพิ่มความน่าสนใจของของตำแหน่งงาน เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้สมัครยิ่งขึ้น ก็อาจจะเสนอให้มากกว่านั้นก็ได้

มาดูกันว่าค่าเบี้ยเลี้ยงของการฝึกอบรมขึ้นอยู่กับเกณฑ์อะไรบ้าง

  • สาขางานที่คุณเลือก (Branche) เช่น งานด้านการซื้อ-ขาย งานด้านการช่าง หรืองานด้านสาธารณะสุขต่างๆ เป็นต้น ซึ่งงานแต่ละด้านก็มีค่าตอบแทนมากน้อยต่างกันออกไป
  • ขนาดของบริษัท ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ คุณอาจจะให้ค่าตอบแทนมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก แต่อันนี้ก็ไม่เสมอไป
  • ริษัทมีข้อตกลงร่วมกันกับองค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ทำงาน (Tarifbindung) เช่น IG Metall หรือจะเรียก IGM (Industriegewerkschaft Metall ) ตัวอย่างบริษัทเช่น Robert Bosch, Volkswagen (VW) , Sennheiser เป็นต้น ยังมีอีกหลายบริษัทที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงของ IG Metall
  • อาชีพที่คุณเลือก นอกจากงานด้านที่คุณเลือกแล้ว แต่ละอาชีพก็มีค่าตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป
  • ทำการฝึกอบรมระบบคู่ปีไหน ปกติแล้วการเรียนสายอาชีพจะอยู่ที่ 2-4 ปี แล้วแต่สาขา และค่าตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้นทุกๆปีของการทำการฝึกอบรม
  • เมืองและรัฐในเยอรมนีที่คุณอาศัยอยู่ เพราะแต่ละเมือง แต่ละรัฐก็มีค่าครองชีพที่แตกต่างกันออกไป เช่น ฮัมบวร์ค (Hamburg) ค่าครองชีพก็แพงกว่า ฮันโนเฟอร์ (Hannover) ถึงแม้ว่าทั้ง 2 เมืองจะอยู่ห่างกันไม่มากนัก

สิ่งหนึ่งที่คุณสามารถมั่นใจได้เลย คือ ค่าตอบแทนจากการฝึกอบรมจะเพิ่มขึ้นทุกปีของการฝึกอบรม เพราะช่วงเวลาที่คุณฝึกอบรม การทำงานที่บริษัท คุณได้เรียนรู้หลักการ แนวทาง วิธีการโครงสร้างการทำงาน และวัฒนธรรมของบริษัท ยิ่งคุณทำงานนานเท่าไหร่ เรียนรู้งานได้เร็วเท่าไหร่ คุณยิ่งมีคุณค่าต่อบริษัทมากขึ้นเท่านั้น

เพราะตอนนี้บริษัทไม่ได้มองว่า คุณเป็นแค่เด็กฝึกอบรม แต่เขามองเห็นการลงทุนทางการเงิน เวลา สอนงานให้คุณ เพื่อให้บริษัทเองได้พนักงานที่มีคุณภาพในอนาคต

นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมโอกาสในการที่บริษัทจะรับคุณเข้าทำงานต่อหลังจากฝึกอบรมจบแล้ว จึงเป็นไปได้สูงมาก

ใครบ้างที่มีโอกาสได้รับค่าตอบแทนจากการทำ Ausbildung

คุณจะได้รับเงินค่าตอบแทนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการฝึกอบรมที่คุณเลือกทำ นั้นหมายถึงบริษัทฝึกอบรมจะจ่ายค่าตอบแทนให้คุณเฉพาะหลักสูตรการฝึกอบรมแบบคู่ เท่านั้น

โดยปรกติแล้วการเรียนสายอาชีพในระบบ ที่เรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพอย่างเดียว จะไม่ได้รับค่าตอบแทน ยกเว้นสำหรับคนที่ทำงานด้านสาธารณสุข ดูแลสุขภาพ งานพยาบาล งานกายภาพบำบัด เพราะถือว่าเป็นการบริการสาธารณะประโยชน์ หรือ ครูพี่เลี้ยงเด็ก ก็ต้องมีการฝึกงานจริงด้วย ซึ่งจะมีสัญญาที่แตกต่างออกไป

ใครเป็นผู้กำหนดค่าตอบแทนของการฝึกอบรม

คุณจะได้เงินเดือนในแต่ละปีของการฝึกอบรมเท่าไหร่ จะมีกำหนดไว้ในสัญญาการจ้างงานอย่างชัดเจน

นอกจากนนี้ ถ้าบริษัทที่คุณทำการฝึกอบรมมีข้อตกลงกับองค์กรสหภาพแรงงานที่ดูแลผลประโยชน์ของพนักงานและได้มีการเจรจาข้อตกลงร่วมกันสำหรับงานแต่ละประเภท คุณก็จะได้รับสิทธินั้นด้วย ซึ่งบริษัทต้องระบุไว้ในสัญญาจ้างงานด้วย ซึ่งค่าตอบแทนก็จะเยอะกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำเยอะพอสมควร

เช่น ตอนที่เราเริ่มทำ Ausbildung สาขา Kauffrau im E-Commerce เราได้รับค่าตอบแทนปีแรกอยู่ที่ 850.- ยูโรต่อเดือน ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นเดียวกัน ที่ฝึกอบรมกับ Sennheiser ซึ่งบริษัทอยู่ภายใต้ข้อตกลงของ IG Metall ปีแรกได้ค่าตอบแทนที่ 1050.- ต่อเดือน

บริษัทที่มีข้อผูกพันตามข้อตกลงร่วมกัน หรือ ที่เรียกว่า Tariflich gebundene Unternehmen

  • หากบริษัทฝึกอบรมผูกพันตามข้อตกลงร่วม ค่าเบี้ยเลี้ยงการฝึกอบรมที่กำหนดไว้ในข้อตกลงร่วมจะมีผลโดยตรง นั้นหมายถึง คุณจะได้รับสิทธิในข้อตกลงนั้นด้วย ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นสมาชิกก็ตาม

บริษัทที่ไม่มีข้อผูกพันตามข้อตกลงร่วมกัน หรือ Tariflich nicht gebundene Unternehmen

  • คุณจะได้รับค่าตอบแทนตามที่บริษัทเห็นว่าเหมาะสม แต่ต้องไม่ต่ำกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ไม่น้อยกว่า 80% ของ Tarifsvertrag

ค่าตอบแทนขั้นต่ำ (Mindestvergütung)

ตามกฎหมายคุ้มครองการทำ Ausbildung ในเยอรมนี ได้กำหนดค่าตอบแทนขั้นต่ำตามกฎหมายอย่างชัดเจนว่า ผู้ฝึกอบรมในแต่ละปีการอบรมจะได้รับเงินค่าตอบแทนเท่าไหร่

มาดูกันว่า ค่าตอบแทนขั้นต่ำในปี 2567 (2024) เป็นเท่าไหร่

  • ปีแรก: 649.- ยูโร / เดือน
  • ปีที่ 2: 766.- ยูโร / เดือน (เพิ่มจากปีแรก 18% จาก ปีแรก)
  • ปีที่ 3: 876.- ยูโร / เดือน (เพิ่มจากปีแรก 35% จาก ปีแรก)
  • ปีที่ 4: 909.- ยูโร / เดือน (เพิ่มจากปีแรก ประมาณ 40% )

ปล. นี่คือเงินค่าตอบแทนต่อเดือนที่ยังไม่มีการหักภาษีและประกันสังคมต่างๆ ส่วนใครจะต้องจ่ายภาษีและประกันสังคมเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับเบอร์ภาษีที่คุณถือ

นอกเหนือจากเงินรายเดือนแล้ว Azubi ยังมีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนอื่นๆ จากสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วย

  •  Urlaubgeld หรือ เงินสมทบช่วงลาพักร้อน: ทุกคนที่ทำงานในเยอรมนีอย่างถูกต้องตามกฏหมายมีสิทธิ์ลาพักร้อนอย่างน้อย 24 วันต่อปี บางบริษัทจ่ายเงินสมทบช่วงลาพักร้อนในพนักงานปีละครั้งก็มี
  • Weihnachtsgeld หรือ โบนัสสำหรับคริสต์มาส: โบนัสสำหรับคริสต์มาสก็เป็นไปตามความสมัครใจของบริษัทที่จะจ่ายให้พนักงานหรือไม่ หรือว่าจ่ายเท่าไหร่
  • ค่าคอบแทนอื่นๆ เช่น ตั๋วรถไฟ หรือ ตั๋วสำหรับใช่บริการการขนส่งทางสาธารณะฟรี เป็นต้น

ความแตกต่างระหว่าง Bruttogehalt และ Nettogehalt

Brutto คือ เงินเดือนที่ยังไม่ได้หักเงินสมทบประกันสังคมและภาษี เงินจำนวนนี้ คือ เงินเดือนที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างงานของคุณ (Arbeitsvertrag)

Netto คือ จำนวนเงินสุทธิที่บริษัทจ่ายเข้าบัญชีของคุณในทุกเดือน หลังจากหักเงินสมทบประกันสังคมและภาษีเรียบร้อยแล้ว

Das Gehalt1

เงินเดือนของผู้ที่ทำ Ausbildung อาจจะไม่เยอะ แต่เป้าหมายหลักของการเรียนสายอาชีพ คือการเรียนรู้งานในสายอาชีพนั้นๆ ให้คุณมีความรู้ มีประสบการณ์งานในการทำงาน ที่สำคัญคือเพื่อบริษัทรับคุณเข้าทำงานหลังจากที่เรียนจบแล้วและเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด

หลังจากที่เรียนจบแล้ว คุณก็จะได้รับเงินเดือนเพิ่มมากขึ้น อย่างตัวเราเองหลังจากที่เรียนจบแล้ว เงินเดือนของพนักงานประจำมากกว่าตอนที่เป็น Azubi เกือบ 3 เท่าเลย

อย่ามองแค่ 649.- ยูโร / เดือน ให้มอง 2000 ยูโร / เดือน ในอีก 3 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งความรู้และประสบการณ์ที่คุณจะได้รับ ความรู้ที่จะติดตัวคุณตลอดไป และไม่มีใครสามารถเอามันไปจากคุณได้