Ausbildung

Ausbildung vs. Studium – เลือกอะไรดี

หลายคนอยากทำงานหรือไม่ก็เรียนต่อที่เยอรมนี แต่ยังมีคำถามมากมายอยู่ในหัว ไม่รู้จะเลือกอะไรดี…

…แล้วอะไรจะคุ้มกว่ากัน ระหว่าง เรียนอย่างเดียว… หรือ ทั้งทำงานและเรียนไปพร้อมกัน แล้วแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง…

บทความนี้ เรามีข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง การทำ Ausbildung กับการเรียนในมหาวิทยาลัยในเยอรมนี ที่จะช่วยทำให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ระดับความสามารถทางภาษา

✅ Studium (การเรียนในมหาวิทยาลัย)

การจะเรียนในมหาวิทยาลัยในเยอรมนีได้นั้น คุณจะต้องมีความรู้ทางด้านภาษาเยอรมันดีมากพอสมควร อย่างน้อยระดับความรู้ทางด้านภาษาต้องอยู่ที่ระดับ B2  ขึ้นไป

ที่สำคัญ คือ คุณต้องยื่นหลักฐานแสดงความรู้ด้านภาษาเยอรมันต่อมหาวิทยาลัยที่คุณสมัครด้วย นั้นหมายถึง คุณจะต้องเตรียมตัวอย่างดี และสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาให้ได้ในระดับที่มหาวิทยาลัยต้องการ

ข้อสอบที่เป็นที่ยอมรับ มี 2 แบบ

👉 TestDaF (Test Deutsch als Fremdsprache) คุณสามารถทำการสอบในประเทศไทยได้ ผลสอบที่มหาวิทยาลัยต้องการ ส่วนใหญ่ คือ ระดับ TDN 4 ขึ้นไป แล้วแต่สาขาที่คุณจะเข้าศึกษาต่อ ข้อมูลต่าง ๆเกี่ยวกับการสมัคร วัน เวลาและ สถานที่สอบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถดูเพิ่มได้ที่เว็บไซต์ของ TestDaF-Institut โดยตรงค่ะ

👉 DSH (Deutsche Sprachprüfung für den Hochschulzugang) การทดสอบภาษาเยอรมันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย จัดสอบโดยมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนีเท่านั้น ผลสอบที่มหาวิทยาลัยต้องการ ส่วนใหญ่คือ ระดับ DSH-2 อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดสอบ DSH นะคะ

Tipps 👉 ผลการสอบของมหาวิทยาลัยบางแห่งอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยที่อยู่ต่างรัฐออกไป ทางที่ดีที่สุด คือ หาข้อมูลก่อนล่วงหน้า และทำการสอบกับมหาวิทยาลัยที่คุณจะเข้าเรียน

Ausbildung (เรียนสายอาชีพ คือมีทั้งเรียนและทำงานไปพร้อมกัน)

จริง ๆแล้วระดับความรู้ทางภาษาเยอรมันสำหรับผู้ที่ต้องการจะเรียนสายอาชีพในเยอรมนี ไม่ได้มีกำหนดไว้ตายตัว ขึ้นอยู่กับบริษัท สายงานและสาขาอาชีพที่คุณสมัคร ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับ B1 – B2

การเรียนสายอาชีพนั้น หลายสาขา ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ต้องดีมากพอสมควรเลยค่ะ ถ้าคุณมีความรู้ทางด้วยภาษามากหน่อย จะช่วยในการทำงาน และการเรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพได้ง่ายยิ่งขึ้น

จากประสบการณ์ เราได้เรียนภาษาจริงๆ คือ ตอนทำงาน และเรียนร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นคนเยอรมันนี่ล่ะ เพราะเขาไม่ได้คิดว่าเราคือนักเรียนภาษาที่กำลังเรียนภาษาเยอรมัน แต่เขาคาดหวังว่าเรา คือ เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมกลุ่มที่มีศักยภาพ เราจึงต้องพยายามมากขึ้น ถ้าความรู้ทางภาษาไม่แน่น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาที่โรงเรียนฝึกอาชีพ เพราะจะเรียนไม่รู้เรื่อง ตามเพื่อนไม่ทัน ไม่มีใครรับเข้าทำงานกลุ่มด้วย กลายเป็นมีปัญหา สุดท้ายไม่อยากไปเรียนก็มีค่ะ

👉 ไม่ว่าคุณจะเลือกเรียนในมหาวิทยาลัย หรือ เลือกทำ Ausbildung ความรู้ทางด้านภาษาเยอรมันเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก 

ความแตกต่างและสิ่งที่ต้องนึกถึงในระหว่างที่คุณเรียนต่อ หรือ เรียนสายอาชีพ

เรียนในมหาวิทยาลัย

หลายคนอาจจะมองว่าการเรียนต่อ เป็นเรื่องที่ไม่หนักเท่าการทำงาน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงมักจะแตกต่างออกกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องบรรยายที่แออัด และความกดดันจากความรับผิดชอบที่ต้องมี ไม่ว่าจะเป็นต่อการเรียน การทำความเข้าใจบทเรียนต่างๆ ที่เป็นภาษาเยอรมันเฉพาะทาง และความกังวลทางการเงิน ค่าธรรมเนียมของแต่ละภาคการศึกษา ค่าที่พัก การใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเดินทาง และ ค่าประกันต่างๆ เป็นต้น

เรียนสายอาชีพ

ระบบการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี มีด้วยกัน 2 แบบ คือ duale Ausbildung (ระบบคู่) และ schulische Ausbildung นะคะ 👉 ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ จาก บทความนี้ เลย ค่ะ

ในทางกลับกัน การเรียนสายอาชีพระบบคู่ คุณจะมีเงินเดือนประจำทุกเดือน และจำนวนเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามจำนวนปีของการอบรม นอกจากนี้บริษัทยังต้องช่วยจ่าย ค่าประกันสัมคมต่างๆ (Versicherung) บางที่อาจจะมีเงินโบนัสประจำปี หรือ ค่าเดินทางต่างๆ ให้พนักงงานด้วย

การทำฝึกงานในเรียนสายอาชีพระบบคู่นั้น มีชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน และการเรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพยังเป็นตัวกำหนดกิจวัตรในแต่ละวัน ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

ข้อดีอีกอย่าง คือ ส่วนใหญ่บริษัทฝึกอบรมจะรับผู้ฝึกงาน (Azubi) เข้าทำงานต่อหลังจากที่ เรียนการเรียนสายอาชีพเสร็จสิ้นลง ด้วยเงินเดือนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับตลาดแรงงาน

แต่คุณอาจจะมีวันหยุดพักร้อนเพียงแค่ 24-30 วันต่อปีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับบริษัทที่คุณฝึกอบรม

ความรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (Theorie und Praxis)

ถ้าเปรียบเทียบความแตกต่างในเรื่องของการเรียนในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผู้ที่ทำเรียนสายอาชีพระบบคู่ จะได้เปรียบในด้านของประสบการณ์การทำงานมากกว่าผู้ที่เรียนอย่างเดียวมาก เพราะจะได้เรียนการปฏิบัติงานจริง รู้ขั้นตอน กระบวนการของการทำงานในสายงานอาชีพนั้น ๆ และมีความรู้เฉพาะทางมากมายอีกด้วย ซึ่งเป็นเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากกว่า

ในทางตรงกันข้าม การเรียนในมหาวิทยาลัยจะเน้นเรียนภาคทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ และขาดประสบการณ์ในการทำงาน

การเริ่มต้นอาชีพ เงินเดือน โอกาสและความก้าวหน้าในอนาคต

แต่ถ้าเปรียบเทียบเรื่องค่าตอบแทนหลังจากเรียนหรือฝึกอบรมจบแล้ว ผู้ที่เรียนจบระดับมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าผู้ที่ทำ Ausbildung

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คุณทำการฝึกอบรมจบเรียบร้อยแล้ว คุณสามารถเรียนต่อ เพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถเฉพาะทางขึ้นไปอีกได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องจบระดับมหาวิทยาลัยของที่นี่ ถึงจะสามารถเรียนต่อได้

สรุปข้อดีและข้อเสียของการเรียน และการฝึกงานในเยอรมนี

Ausbildung (เรียนและทำงาน) Studium (การเรียนใมหาวิทยาลัย)
ข้อดี 
– เน้นการปฏิบัติงานจริงเป็นหลัก มีประสบการณ์การทำงานโดยตรง
และมีโอกาสได้งานทำสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกอบรมในระบบ เรียนสายอาชีพระบบคู่
– อาชีพส่วนใหญ่ มีเงินเดือนประจำ
– มีตำแหน่งงานว่างให้เลือกมากมาย
– มีความรู้รอบด้าน เพราะส่วนใหญ่จะได้ทดลองทำงาน
ในหลายแผนกในบริษัท
– ถ้ามีผลการทำงานดี บริษัทอาจจะรับผู้ฝึกงานเข้าทำงานต่อหลังจากที่การฝึกอบนมเสร็จ ทำให้คุณไม่ต้องหางานใหม่ให้ยุ่งยาก
– มีหลากหลายสาขาอาชีพให้เลือก

– หลังจากเรียนจบมาแล้ว ส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนเยอะกว่าผู้ที่ เรียนจบสายอาชีพ
  ❌ ข้อเสีย 
– การหาที่ฝึกงานนั้นค่อนข้างยาก และมีคู่แข่งเยอะพอสมควร คุณต้องวางแผน และเตรียมตัวล่วงหน้าดีพอสมควร เพื่อจะให้ได้ตำแหน่งงานที่ต้องการ  – เน้นทฤษฎีเป็นหลักทำให้ประสบการณ์ในทางปฏิบัตินั้นน้อย

– ต้องจ่ายค่าเรียน และค่าใช้จ่ายต่างๆเอง

ไม่ว่าคุณจะเลือกศึกษาต่อใมหาวิทยาลัย หรือ เลือกเรียนสายอาชีพ จริง ๆแล้วไม่มีอะไรดีที่สุดหรือแย่ที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการอะไร สะดวกแบบไหนมากกว่า ที่สำคัญ คือ คุณควรจะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

ถ้าคุณยังเลือกไม่ได้ ลองตอบคำถามนี้ 👇👇

เป้าหมายของคุณคืออะไร คุณอยากเรียนต่อในเยอรมนี เพื่อทำงานที่นี่ หรือ อยากเรียนต่อเพื่อกลับไปทำงานที่เมืองไทย

ถ้าคำตอบคือ เพื่อทำงานที่นี่ ส่วนตัวแนะนำให้คุณทำเรียนสายอาชีพระบบคู่เพราะคุณจะมีประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้คุณหางานที่ดีในเยอรมนีได้ง่ายขึ้น

คุณคิดว่าบริษัทจะเลือกใคร...
ระหว่างผู้สมัครสองคนที่จบจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน สาขาเดียวกัน ทั้งคู่ต่างขาดประสบการณ์ในการทำงานเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ผู้สมัครคนหนึ่งเป็นชาวเยอรมัน ส่วนอีกคนเป็นชาวต่างชาติ ...แน่นอนว่า บริษัทจะต้องเลือกผู้สมัครที่เป็นชาวเยอรมัน เพราะอย่างน้อยเขาก็มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องของภาษา

แต่ถ้าคุณอยากเรียนต่อ เพื่อกลับไปทำงานที่เมืองไทย การเรียนมหาวิทยาลัยอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะวุฒิการศึกษาที่จบมาจะสูงกว่าการเรียนสายอาชีพของที่นี่

ไม่ว่าคุณจะเลือกแบบไหน สิ่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างกัน สิ่งที่คุณต้องมี คือ ความรับผิดชอบ ยิ่งคุณมีความมุ่งมั่นและพยายามมากเท่าไหร่ ความสำเร็จของคุณก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น