Ausbildung

เช็คลิสต์เอกสาร สมัครงานในเยอรมนี

การเขียนใบสมัครงานที่ดี และสามารถดึงดูดความสนใจของฝ่ายบุคคลได้ทันทีนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย และยิ่งเป็นภาษาที่เราไม่ถนัดด้วยแล้ว ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

แต่ไม่เป็นไร…ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของเราไปได้

บทความนี้ เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารที่ใช้ในการสมัครงาน และคำแนะนำเล็กๆน้อยๆ จากประสบการณ์จริงที่จะทำให้การหา Ausbildung หรืองานในฝันของคุณนั้นง่ายยิ่งขึ้น

You don’t have a second chance to make the first impression.

คุณไม่มีโอกาสครั้งที่สอง ที่จะสร้างความประทับใจแรกให้เกิดขึ้น

คุณเลือกตำแหน่งสำหรับทำ Ausbildung ที่เหมาะสำหรับคุณได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การส่งใบสมัครงาน เพื่อโน้มน้าวฝ่ายบุคคลของบริษัทที่คุณอยากฝึกงานว่า คุณคือผู้สมัครที่บริษัทต้องการ และเรียกตัวคุณเพื่อสัมภาษณ์งาน เรามีเคล็ดลับเกี่ยวกับการเตรียมเอกสาร การเลือกรูปภาพติดใบสมัคร จนไปถึงการเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องแนบไปด้วย เชื่อว่าจะทำให้คุณได้ตำแหน่งงานที่คุณต้องการเร็วขึ้นแน่นอนค่ะ

ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่า Ausbildung คือ อะไร

พูดง่ายๆ คือ ระบบการศึกษาสายอาชีพของเยอรมนี ที่มีทั้งการเรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพ (Berufsschule) ควบคู่ไปกับการทำงานจริง ๆในบริษัทที่รับคุณเข้าฝึกอบรม

👉 ระบบการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี มีด้วยกัน 2 แบบ คือ duale Ausbildung และ schulische Ausbildung นะคะ 👉 ข้อมูลเพิ่มเติม จาก บทความนี้ เลย ค่ะ

เช็คลิสต์เอกสาร ก่อนยื่นใบสมัครงาน (Bewerbungsunterlagen) เรียงลำดับตามนี้เลยค่ะ

  • Deckblatt (ไม่บังคับ จะมีหรือไม่ก็ได้ ส่วนตัวไม่ได้ยื่นเอกสารส่วนนี้ไปค่ะ)
  • Anschreiben (จดหมายสมัครงาน มากสุด 2 หน้ากระดาษ)
  • Lebenslauf (ประวัติโดยย่อ มากสุด 3 หน้ากระดาษ)
  • Zeugnisse (ใบประกาศนียบัตรต่าง ๆ)

ตามมาดูกันต่อเลยค่ะ

1️⃣ Deckblatt (ไม่บังคับ จะมีหรือไม่ก็ได้ ส่วนตัวไม่ได้ยื่นเอกสารส่วนนี้ไปค่ะ)

2️⃣ จดหมายสมัครงาน (Anschreiben)

การเขียนจดหมายสมัครงานที่ดี เขียนให้ฝ่ายบุคคลรู้สึกสนใจและอยากรู้จักเรามากขึ้นนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยาก ไม่เว้นแม้แต่สำหรับเจ้าของภาษาเอง ดังนั้นคุณต้องให้เวลาและให้ความใส่ใจกับส่วนนี้มากพอสมควร เพราะบริษัทใหญ่ๆบางแห่งที่มีผู้สมัครมากมาย เลือกที่จะอ่านและคัดเลือกผู้สมัครเฉพาะจากจดหมายสมัครงานก่อน และเลือกจะตอบปฏิเสธทั้ง ๆที่ยังไม่ได้ดูประวัติการทำงานและการศึกษาของคุณเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นจดหมายสมัครงานจึงเป็นส่วนที่ถือว่าสำคัญมากและต้องใช้เวลาในการเขียนและอ่านทบทวนหลายๆรอบ

แล้วในจดหมายสมัครงานต้องเขียนอะไรบ้าง

👉 ในจดหมายสมัครงาน คุณต้องระบุให้ชัดเจนว่าจุดแข็งและประสบการณ์ของคุณอยู่ตรงไหนและทำไมคุณถึงเป็นผู้สมัครที่บริษัทกำลังมองหาและต้องการ รวมไปถึงการอธิบายแรงจูงใจของคุณ ว่าประสบการณ์เดิมที่คุณมี จะเป็นผลดีต่อตำแหน่งที่คุณสมัครอย่างไร เพื่อกระตุ้นต่อมความสนใจและความอยากรู้จักคุณมากขึ้นของฝ่ายบุคคลให้ได้
กำหนดและโครงสร้างของจดหมายสมัครงานต้องมี คือ…
  • ผู้ส่ง (ชื่อที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล)
  • วันที่ (ด้านบนขวา)
  • ผู้รับ (บริษัท ชื่อและนามสกุลของผู้รับ ที่อยู่ ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายบุคคลของบริษัท)
  • ไม่ต้องใส่ภาพถ่ายในจดหมายสมัครงาน ใส่เฉพาะในเรซูเม่เท่านั้น
  • หัวข้อ (ระบุให้จัดเจนว่าคุณต้องการสมัครทำ Ausbildung ในตำแหน่งอะไร)
  • คำทักทายขึ้นต้น (ให้ระบุชื่อผู้รับเสมอ ไม่ควรใช้ „Sehr geehrte Damen und Herren“ ถ้าไม่ทราบชื่อผู้ที่ติดต่อ ให้โทรศัพท์ถามที่บริษัท)
  • ประโยคเกริ่นนำ ความเกี่ยวข้องกับบริษัท และแรงจูงใจที่ทำให้เราอยากทำงานตำแหน่งนี้
  • คำอธิบายสั้น ๆ ถึงจุดแข็งและทักษะของคุณเอง (พร้อมตัวอย่าง จากงานที่คุณเคยทำมา หรือจากงานอดิเรกของคุณก็ได้)
  • ความสามารถทางด้านอื่นๆ (เช่น ภาษา คอมพิวเตอร์ หรือ ทักษะอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับตำแหน่งงานที่คุณสมัคร)
  • การเขียนปิดจดหมาย
  • คำลงท้ายและลายเซ็น
  • เอกสารที่แนบมาด้วย
Tipps👇

- ห้ามเขียนผิดหรือสะกดคำผิด แนะนำให้ใช้โปรแกรมตรวจสอบการสะกด และให้เพื่อนหรือคนที่รู้จักที่เป็นชาวเยอรมัน ที่มีความรู้ค่อนข้างดี เป็นคนอ่านและตรวจสอบให้อีกรอบ

- อีเมล ควรจะใช้ชื่อที่ดูจริงจัง เช่น ชื่อจริง.นามสกุล@outlook.com 
อีเมลที่ไม่ควรใช้ในการสมัครงาน เช่น ชื่อเล่น123@outlook.com เพราะแสดงออกถึงความไม่จริงจังและไม่เป็นมืออาชีพ

3️⃣ ประวัติย่อ เกี่ยวกับการศึกษาและทำงาน ที่มีภาพถ่ายติดเรียบร้อย (Lebenslauf)

สิ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับประวัติ หรือ เรซูเม่ คือ ความสมบูรณ์แบบ และเนื้อหามีความต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่ฝ่ายบุคคลของแต่ละบริษัทต้องการ ความสมบูรณ์แบบในที่นี่ ไม่ใช่การมีประวัติการทำงานที่เลิศหรู แต่คือการมีประวัติที่ไม่มีช่องโหว่ หรือ ช่วงเวลาหนึ่งที่บอกไม่ได้ว่าคุณทำอะไร

Ausbildung - ประวัติย่อ เกี่ยวกับการศึกษาและทำงาน ที่มีภาพถ่ายติดเรียบร้อย
Lebenslauf

เนื้อหาของ Resume ที่ต้องมี คือ…

  • ข้อมูลส่วนตัว (ชื่อ วันเดือนปีเกิด และที่อยู่)
  • สถานภาพการสมรสและสัญชาติ
  • ประสบการณ์ทางด้านอาชีพ (เริ่มจากงานที่เราทำล่าสุด ไปจนถึงงานแรก)
  • ประวัติทางด้านการศึกษา
  • คุณสมบัติพิเศษ (การศึกษาต่อ ใบรับรองทางภาษา ความสามารถทางด้าน คอมพิวเตอร์ หรืออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตำแหน่งงานที่คุณสมัคร)
  • สิ่งที่เราสนใจ เช่น งานอดิเรกต่าง ๆ (ควรจะมี เพราะจะทำให้บริษัทเห็นในสิ่งที่คุณสนใจ และพอจะทราบว่าคุณเป็นคนอย่างไร ซึ่งสามารถดูได้จากงานอดิเรกที่คุณทำ)
  • สถานที่ วันที่ และลายเซ็น

ภาพถ่ายติดใบสมัครงาน ตามหลักจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นส่วนสำคัญของใบสมัครงาน อย่าลืมว่าฝ่ายบุคคลไม่รู้จักคุณ ดังนั้นความประทับใจครั้งแรกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

สีหน้าและนัยน์ตาที่ดูยิ้มแย้ม แจ่มใส ทรงผมดูดี เรียบร้อยเข้าที่เข้าทาง การแต่งกายที่ดูจริงจังอย่างมืออาชีพ

นั้นคือสิ่งที่นายจ้างทุกคนมองหา คุณภาพของภาพถ่ายเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น-ภาพสีหรือขาวดำก็เป็นเรื่องของรสนิยม สิ่งที่สำคัญกว่ามากคือ ต้องเป็นถ่ายภาพโดยช่างภาพมืออาชีพ ไม่ใช่จากเครื่องถ่ายภาพอัตโนมัต เพราะรูปเหล่านั้นจะทำให้เราดูไม่จริงจัง คิดเสมอว่า การสร้างความประทับใจแรกเป็นสิ่งสำคัญ

สิ่งที่ควรทำเมื่อถ่ายภาพติดใบสมัครงาน

  • ภาพถ่ายครึ่งตัวที่มองสบตากับผู้ดู ปากและนัยน์ตายิ้มแย้ม
  • เสื้อผ้าควรเลือกให้เหมาะสมกับอาชีพและตำแหน่งที่สมัคร ไม่ควรมีรอยยับ สีไม่สดจนเกินไป
  • พื้นหลังของภาพถ่ายควรเป็นสีกลางๆ หรือ สีทีทำให้ดูสงบ
  • ภาพถ่ายที่ต้องมีคุณภาพดี และขนาด 6×4 cm หรือ 9×6 cm

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อถ่ายภาพติดใบสมัครงาน

  • ภาพถ่ายที่ถ่ายเอง คุณภาพไม่ดี
  • แต่งหน้าจัดเกินไป จนทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ
  • ภาพถ่ายเต็มตัว
  • ทรงผมไม่เรียบร้อย ยุ่งเหยิง
  • ภาพถ่ายที่ดู เซ็กซี่ หรือ การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เปิดเผยเนื้อตัวมากจนเกินไป
Tipps👇  

- เนื้อหาทั้งหมดของประวัติการทำงานไม่ควรจะเกิน 2 หน้ากระดาษ ถ้าเนื้อหามากเกินไป ให้ลดหรือตัดคำอธิบายเกี่ยวกับอาชีพที่คุณเคยทำ เลือกที่คุณสมบัติที่ไม่จำเป็นต่อตำแหน่งที่ต้องการสมัคร

- ถ้าคุณยังไม่มีอะไรทำหรือว่างงานอยู่ อย่าใช้คำว่า “arbeitslos” ให้ใช้คำว่า “arbeitssuchend“ คือ หางานอยู่ ความหมายเหมือนกัน คือยังไม่มีงานนั้นแหละแต่ฟังดูดีกว่า

4️⃣ ใบประกาศนียบัตร (Zeugnisse)

ใบประกาศนียบัตรที่แสดงถึงความสามารถทางด้านภาษาของคุณเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะภาษาเยอรมัน ถ้าคุณต้องการทำงาน หรือ เรียนต่อในเยอรมนี ภาษาเยอรมันควรจะอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร

ถ้าคุณต้องการเรียนภาษาเยอรมันด้วยตัวเอง กำลังมองหาหนังสือหรือสื่อการเรียน บทความนี้ ช่วยคุณได้ค่ะ

ถ้าใบประกาศนียบัตรที่สำคัญต่างๆเป็นภาษาไทย ต้องมีแปลเป็นภาษาเยอรมันและรับรองเอกสารให้เรียบร้อย

Tipps👇  

- ถ้าเอกสารเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว สามารถยื่นสมัครได้เลย ไม่จำเป็นต้องแปลเอกสาร นอกเสียจากว่าทางบริษัทจะแจ้งไว้อย่างชัดเจนว่าเอกสารต้องเป็นภาษาเยอรมันเท่านั้น

- ถ้าสาขาที่เรียนมา ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสาขาที่คุณจะสมัคร หรืออยากทำงาน ก็ไม่จำเป็นต้องขอรับรองเอกสารให้ยุ่งยากและเสียเวลา เช่น เราเรียนจบปริญญาตรีสาขาภาษาจีนมา แต่เลือกเรียนสาขา Kaufleute im E-Commerce ก็ไม่ได้ยื่นขอเอกสารให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มเลยค่ะ 

ถ้าไม่แน่ใจว่าบริษัทต้องการเอกสารอะไรบ้าง ยื่นแค่ ✅ จดหมายสมัครงาน ✅ ประวัติย่อ และ ✅ ใบประกาศนียบัตรต่าง ๆไปก่อน หากบริษัทต้องการเอกสารเพิ่มเติม เขาจะแจ้งมาเอง

สิ่งสำคัญ 👉 ต้องยื่นเอกสารให้ครบตามที่บริษัทต้องการ

จากประสบการณ์ของตัวเอง เรายื่นแค่จดหมายสมัครงาน ประวัติย่อ และ ใบประกาศนียบัตรต่าง ๆ แค่นั้นเองค่ะ

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าใบสมัคร (Bewerbungsunterlagen) ของคุณเรียบร้อย สมบูรณ์ เอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทต้องการ แต่ละบริษัทอาจจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน บางบริษัทอาจจะต้องการได้รับจดหมายที่เขียนเกี่ยวกับแรงจูงใจในการสมัครเพิ่ม นอกเหนือจากจดหมายสมัครงาน (Anschreiben) ก็ได้

Ausbildung ส่วนใหม่จะเริ่มในวันที่ 1 สิงหาคม หรือ 1 กันยายนของทุกปี ยิ่งคุณสมัครเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ได้งานที่ต้องการก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

เราเอาใจช่วยทุกคนให้หาที่ฝึกงานให้ได้เร็วๆ และประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ…

สู้ๆค่ะ เราเชื่อว่าคุณทำได้ 😊