Ausbildung

guter Arbeitgeber – 9 ข้อ เลือกบริษัทที่เหมาะกับคุณ

การหางาน หรือ ต้องการทำ Ausbildung ในเยอรมนี เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เชื่อว่าทุกคนคงอยากจะทำงานกับนายจ้างที่ดี (guter Arbeitgeber) ที่แฟร์ทั้งเรื่องค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ

แล้ว Guter Arbeitgeber – นายจ้างที่ดี เลือกอย่างไร ดูได้จากอะไรบ้าง… นอกจากเงินเดือนแล้ว อะไรคือปัจจัยอื่น ๆ ที่คุณควรพิจารณาก่อนจะตกลงใจทำงานที่ไหนสักแห่ง บทความนี้เรามี 8 ข้อ ที่สำคัญ เลือกบริษัทที่เหมาะกับคุณมาฝากค่ะ

เลือกบริษัทที่เหมาะกับคุณ
อย่าให้บริษัทเป็นฝ่ายเลือกคุณอย่างเดียว

Eve Schönberner

บทความนี้เรามีข้อมูล ที่ส่องถึงคุณสมบัติของการเป็นนายจ้างที่ดี และสามารถนำไปถึงคำถามที่คุณควรหาคำตอบในระหว่างขั้นตอน การสัมภาษณ์งาน

สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี ซึ่งมีด้วยกัน 2 แบบ คือ duale Ausbildung และ schulische Ausbildung นะคะ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ จาก บทความนี้ เลย ค่ะ

Ausbildung
เลือกนายจ้างที่ดี / รูปภาพ: Pixabay.com

นายจ้างที่ดีพร้อมจะลงทุนในพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถด้านเทคนิค และทางด้านสังคมเพราะตระหนักถึงความสำคัญของพนักงาน และเชื่อมั่นว่าความสามารถเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในระยะยาว

นอกจากนี้ยังรู้ดีถึงวิธีการจัดวางพนักงานในตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถของพนักงานอย่างสมดุลและตามจุดแข็งของแต่ละคนอีกด้วย

มาดูกันเลยค่ะว่า คุณสมบัติของ Guter Arbeitgeber หรือ นายจ้างที่ดี แต่ละอย่างมีอะไรบ้าง

1️⃣ เงินเดือนสอดคล้องกับตลาดแรงงาน

ก่อนที่คุณจะสมัครงาน หรือ สอบสัมภาษณ์งาน ควรจะหาข้อมูลก่อนว่า สาขาอาชีพที่คุณจะสมัคร ฐานเงินเดือนในตลาดแรงงานอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่

2️⃣ บรรยากาศในการทำงานที่ดี

ก่อนที่คุณจะสมัครงาน หรือ สมัคร Ausbildung อย่างช้าที่สุด คือ ก่อน การสัมภาษณ์งาน – คุณควรอ่านและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทให้ดีเสียก่อน เช่น การอ่านบทความการวิจารณ์ เกี่ยวกับ นายจ้าง ซึ่งสามารถดูได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือ ลองอ่านจากเว็บไซต์หน้า Linkedin ของบริษัท ที่จะมีโพสเกี่ยวกับกิจจะกรรมต่างๆในที่ทำงาน โดยพนักงานของบริษัทเอง

3️⃣ มีการฝึกอบรมเพิ่มเติม ความมั่นคงในการทำงาน โอกาสในหน้าที่การงาน

บริษัทมีโครงการจัดให้พนักรับการฝึกอบรมเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่า Weiterbildung หรือ นำเสนอคอร์สต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถของพนักงานหรือไม่

4️⃣ ทำเลที่ตั้งของบริษัทดี สามารถเดินทางไปมาได้สะดวก

ต่อให้ตำแหน่งงานจะดีแค่ไหน แต่ถ้าหากคุณต้องใช้เวลาในการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันนานเกินไป และ คุณมักจะมาสายเนื่องจากการเชื่อมต่อการขนส่งที่ไม่ดี ไม่ช้าก็เร็วนี่อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้

สุดท้ายคุณอาจจะต้องเลือก ระหว่าง งานในฝัน หรือ งานที่คุณสามารถเดินทางไปมาได้อย่างสะดวกรวดเร็วทั้งโดยรถยนต์และระบบขนส่งสาธารณะ แต่ถ้าเป็นงานที่คุณรักและอยากทำจริง ๆ อาจจะต้องหาที่พักที่อยู่ใกล้กับที่ทำงานแทน

5️⃣ วัฒนธรรมขององค์กรที่น่าดึงดูดใจ

วัฒนธรรมขององค์กร หมายถึง โครงสร้างและการบริหารงานของบริษัท เช่น บริษัทมีระบบการบริหารงานที่มีลำดับชั้นแบบต่ำ (flache Hierarchie) หรือ ระบบการบริหารงานที่มีลำดับชั้นที่สูงชัน (steile Hierarchie) บริษัทมีความเชื่อมั่น และไว้วางใจในพนักงานแค่ไหน

ความแตกต่าง คือ ด้วยลำดับชั้นแบบเรียบ ๆ (แบบต่ำflache Hierarchie) ความคิดเห็น ปัญหา หรือ ข้อเสนอแนะต่าง ๆ สามารถปรับใช้ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ไม่ต้องรอการตัดสินใจจากหลายฝ่าย หรือ ผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า ทำให้การทำงานเดินหน้าอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในขณะที่การบริหารงานลำดับชั้นที่สูงชัน (steile Hierarchie) ความคิดเห็น ปัญหา หรือ ข้อเสนอแนะต่าง ๆต้องฝ่ายหลายขั้นตอน อาจจะทำให้การตัดสินใจล่าช้า เพราะต้องการตัดสินใจจากหลายฝ่าย

อีฟเองทำ Ausbildung กับบริษัทที่มีโครงสร้างการบริหารงานที่มีลำดับชั้นแบบต่ำ(flache Hierarchie) ส่วนตัวคิดว่าระบบนี้ดีกว่าระบบการบริหารงานลำดับชั้นที่สูงชัน(steile Hierarchie)เยอะ  

เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว ทำให้เรามีโอกาสเรียนรู้งานได้หลายแผนก และรวดเร็ว คือเราสามารถพูดคุยกับผู้ดูแลได้โดยตรงว่า เราสนใจงานด้านไหน อยากเรียนรู้งานด้านไหนเพิ่มเติม 

ที่สำคัญมากอีกอย่าง คือ ระบบนี้บริษัทจะมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจในพนักงานสูง และให้สิทธิในการตัดสินใจในงานที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ยังได้รับผิดชอบงานเอง ตั้งแต่ช่วงแรกๆของการเริ่มทำ Ausbildung ทำให้เราสามารถพัฒนาความตนเองในหน้าที่การงานขึ้นไปอีกได้ 

6️⃣ โอกาสในการพัฒนาตนเองในระหว่างการทำงาน

ความน่าดึงดูดใจของนายจ้างอีกอย่าง คือ การเปิดโอกาสให้คุณได้แสดงความสามารถที่มีอยู่ในตัวได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการสนับสนุนความคิดของคุณเองในการทำงานด้วย

ดังนั้น คุณควรสอบถามตั้งแต่ในระหว่างการสัมภาษณ์งาน ว่าตำแหน่งดังกล่าวให้โอกาสระยะยาวแก่คุณในด้านการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองในอาชีพที่คุณเลือกทำได้มากน้อยแค่ไหน

7️⃣ การตั้งเป้าหมาย การประเมิน และการให้ผลตอบรับของบริษัท

การตั้งเป้าหมายในอาชีพ หรือ การทำงาน ทำให้เรารู้ว่า เราอยู่ตรงไหน และกำลังจะเดินไปในทิศทางไหน มีอะไรบ้างที่เราต้องทำ เพื่อให้เราสามารถเดินไปยังจุดมุ่งหมายที่เราตั้งเอาไว้ได้

การประเมินและผลตอบรับในระหว่างการทำงาน ทำให้เรารู้ว่า เรามีการพัฒนามากน้อยแค่ไหน หรือ จุดไหนบ้างที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติม

ส่วนตัว อีฟจะขอการประเมินผลการทำงานของตัวเอง ไม่เพียงแค่จากหัวหน้างานเท่านั้น แต่จะขอจากเพื่อนร่วมงานที่เราทำงานด้วย เพราะเขาเป็นคนที่ทำงานกับเราโดยตรงและจะรู้ดีว่า เรามีจุดอ่อน จุดแข็งตรงไหนบ้าง

อีฟเขียนตัวอย่างของผลการประเมินของตัวเอง ลงในบทความเกี่ยวกับช่วงทดลองงาน Probezeit – ผ่านโปร…แบบมือโปร ที่ถามจากเพื่อนร่วมงานโดยตรง ช่วงที่ทำ Ausbildung สาขา E-Commerce ลองเข้าไปอ่านดูเพื่อเป็นแนวทางได้ค่ะ 

8️⃣ จำนวนวันหยุดพักร้อนและค่าล่วงเวลา

กฎหมายแรงงานของเยอรมัน มีกำหนดไว้ตายตัวว่าบริษัทจะต้องให้วันหยุดพักร้อนพนักงานอย่างน้อย 24 วันต่อปี บางบริษัทอาจจะมีวันหยุดพักร้อนมากกว่านั้น อันนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทค่ะ

คุณอาจจะเริ่มจากคำถามเหล่านี้

  • มีวันหยุดพักร้อนกี่วัน
  • บริษัทจ่ายค่าชดเชยล่วงเวลาหรือไม่
  • มีเงินพิเศษประจำปี เช่น โบนัสประจำปี หรือ เงินของขวัญสำหรับช่วงคริสต์มาส (Weihnachtsgeld) หรือไม่… เป็นต้น

9️⃣ ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิต หรือ Work-Life-Balance

ความสมดุลที่ดี คือ การแยกให้ออกระหว่างเวลาทำงาน และ เวลาสำหรับกิจกรรมส่วนตัว

บริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้แค่ไหน แล้วคุณมีโอกาส หรือ สามารถสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน

สรุปประเด็นสำคัญที่คุณควรรู้ ก่อนจะตัดสินใจเลือกที่ทำงาน

✅ เงินเดือนสอดคล้องกับตลาดแรงงาน
✅ บรรยากาศการทำงานที่ดี
✅ การฝึกอบรมเพิ่มเติม ความมั่นคงและโอกาสในหน้าที่การงาน
✅ การเดินทางไป-มาสะดวก
✅ โครงสร้างและการบริหารงานของบริษัท
✅ มีโอกาสในการพัฒนาตนเองในระหว่างการทำงาน
✅ มีวันหยุดพักร้อนและค่าล่วงเวลาที่น่าดึงดูดใจ
✅ สามารถสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตได้
(Work-Life-Balance)

Guter Arbeitgeber – นายจ้างที่ดี เลือกอย่างไร…

ท้ายที่สุดแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับตัวของคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพและสถานการณ์ในชีวิตส่วนตัวต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดว่าคุณสมบัติข้อไหน มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับคุณมากน้อยแค่ไหน

ค้นหาลำดับความสำคัญความต้องการของตัวเอง ลองหาข้อดีข้อเสียของแต่ละอย่าง แล้วเปรียบกันว่าอะไรที่ “สำคัญกับคุณจริง ๆ” หรือ คุณสมบัติไหนที่ „ถ้ามีก็ดี“ เพื่อสร้างความชัดเจนในความต้องการของคุณ จะช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่ว่าคุณจะเลือกนายจ้างด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราอยากให้คุณนึกถึงและแน่ใจว่า นั่นคือสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ ที่สำคัญอย่าลืมว่าสภาพแวดล้อม บรรยากาศในการทำงาน เพื่อนร่วมงาน และ การพัฒนาศักยภาพในตัวคุณเอง สำคัญในระยะยาวมากกว่าตัวเลขที่คุณจะได้รับในแต่ละเดือน

ขอให้ทุกคนได้นายจ้างที่ดี อย่างที่ต้องการนะคะ