ใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในเยอรมนี จำเป็นแค่ไหน – การขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ หรือที่เรียกว่า Anerkennung ausländischer Berufsabschlüsse
คุณมีวุฒิการศึกษาและมีความเชี่ยวชาญระดับมืออาชีพในอาชีพที่คุณรักจากเมืองไทย และต้องการทำงานในเยอรมนี แต่มีคำถามเหล่านี้… ต้องขอใบรับรองเอกสารหรือเปล่า อาชีพไหนบ้าง ต้องยื่นเอกสารไปที่ไหน ใช้เวลานานไหม ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
เชื่อเถอะว่าหลายคนก็มีคำถามเช่นเดียวกับคุณ เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เคยรู้สึกกดดันอย่างมากมาก่อน
บทความนี้เราพยายามสรุปเนื้อหาที่เกี่ยวกับการขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ และข้อมูลต่าง ๆ ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยให้คุณมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เนื่อหาของบทความนี้สำหรับผู้ที่จะสมัครทำงานในเยอรมนีโดยตรง ไม่ใช่การเทียบวุฒิการศึกษาเพื่อสมัครเรียนต่อหรือผู้ที่ต้องการทำ Ausbildung
ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่า Ausbildung คือ อะไร
พูดง่ายๆ คือ ระบบการศึกษาสายอาชีพของเยอรมนี ที่มีทั้งการเรียนในโรงเรียนฝึกอาชีพ (Berufsschule) ควบคู่ไปกับการทำงานจริง ๆในบริษัทที่รับคุณเข้าฝึกอบรม
👉 ระบบการเรียนสายอาชีพในเยอรมนี มีด้วยกัน 2 แบบ คือ duale Ausbildung และ schulische Ausbildung นะคะ 👉 ข้อมูลเพิ่มเติม จาก บทความนี้ เลย ค่ะ
อย่างแรก คุณต้องตรวจสอบดูก่อนว่า อาชีพของคุณ จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็น วิชาชีพที่ได้รับการควบคุมในเยอรมนี (reglementierte Berufe) หรือไม่
วิชาชีพที่ได้รับการควบคุม
👉 วิชาชีพที่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย และต้องได้รับใบอนุญาตจากทางรัฐบาลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร คุณถึงจะประกอบอาชีพเหล่านี้ในเยอรมนีได้ และเฉพาะวิชาชีพเหล่านี้เท่านั้นที่จำเป็นต้องขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งได้แก่
- อาชีพด้านสุขภาพ หรือ เกี่ยวกับทางด้านการแพทย์ เช่น หมอ พยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
- พนักงานที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐ หรือ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับภาคการศึกษา เช่น ครู หรือ ครูพี่เลี้ยงเด็กตามโรงเรียนอนุบาลต่าง ๆ ที่ทำงานในโรงเรียนหรือหน่วยงานของทางรัฐบาล
- อาชีพที่เป็นงานฝีมือ เช่น คนทำขนมปัง ช่างทำผม หรืองานฝีมือ ต่าง ๆ
- อาชีพทางด้านกฎหมาย
- วิศวกร หรือ สถาปนิก
ถ้าคุณจะสมัครงานในอาชีพที่กล่าวมา การขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
คุณสามารถดูข้อมูลและขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ Anerkennung in Deutschland และ Anerkennungs-Finder ซึ่งจะมีให้เลือกทั้งที่เป็นภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ
Anerkennung in Deutschland
Anerkennungs-Finder คุณสามารถดูข้อมูลว่า หน่วยงานที่คุณต้องยื่นเอกสารและขอคำแนะนำต่างๆได้ที่นี่
เมื่อคุณรู้แล้วว่า อาชีพของคุณนั้นเป็นอาชีพที่ได้รับการควบคุม ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนการยื่นเอกสารและการดำเนินการ
1️⃣ คุณต้องเลือกว่าอาชีพไหนที่คุณจะให้เปรียบเทียบหรือขอใบรับรอง เช่น แพทย์ พยาบาล
2️⃣ ยื่นคำร้องขอใบรับรอง ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ละรัฐ มีหน่วยงานที่รับผิดแตกต่างกัน คุณสามารถดูข้อมูลได้ที่ Anerkennungs-Finder
3️⃣ หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการ หลังจากที่ยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้ว คุณจะได้รับจดหมายตอบกลับมาว่า ได้รับเอกสารและคำร้องขอแล้ว และกำลังดำเนินการ หรือ เอกสารยังขาดเหลืออะไรบ้าง ถ้าเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ การดำเนินการใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน
4️⃣ หน่วยงานที่รับผิดชอบ แจ้งผลการดำเนินการ ซึ่งคำตอบที่ได้จะมี 3 แบบ คือ
- anerkannt คือ เป็นที่ยอมรับ
- teilweise anerkannt คือ ยอมรับแค่บางส่วน
- nicht anerkannt คือ ไม่เป็นที่ยอมรับ
เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป การเปรียบเทียบคุณสมบัตินั้น ค่อนข้างเข้มงวด เอกสารจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อ คุณสมบัติ เนื้อหาสาระสำคัญในวิชาที่เรียนและการฝึกปฏิบัติ รายละเอียดต่าง ๆ ของงานสามารถเทียบได้หรือใกล้เคียงกับในเยอรมนีเท่านั้น
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อขอ ใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในเยอรมนี
ค่าใช้จ่ายในการยื่นเอกสารและคำร้องขอ ค่าธรรมเนียม และค่าแปลเอกสารเป็นภาษาเยอรมัน จะอยู่ที่ 600 ยูโร โดยประมาณ บางกรณีอาจจะมากกว่านี้ หรืออาจจะมีค่าแปลเอกสาร การรับรองเอกสาร หรืออื่น ๆเพิ่มขึ้นมาอีก ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเป็นผู้แจ้งค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจนอีกที
ส่วนตัวคิดว่าค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงเอาเรื่องทีเดียว แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ว่าเขาอยากได้คนที่มีศักยภาพและได้มาตรฐานจริง ๆ
หากวิชาชีพของคุณไม่ได้เป็นอาชีพที่ต้องมีการควบคุม (nicht reglementierte Berufe)
👉 คุณไม่จำเป็นต้องยื่นขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้สามารถทำงานที่เยอรมนีได้ คุณสามารถขอแค่ใบประเมินใบประกาศนียบัตร (Zeugnisbewertung) ซึ่งออกให้โดยสำนักงานกลางการศึกษาของชาวต่างชาติ (Zentralstelle für ausländisches Bildungswesen – ZAB) ของเยอรมนี คุณสามารถสมัครงานได้เลย อาชีพส่วนใหญ่ของที่นี่ก็จะเป็นอาชีพที่ไม่ได้มีการควบคุม
ค่าใช้จ่ายของการประเมินใบรับรองนั้นอยู่ที่ 200 ยูโร หากต้องการใบรับรองเพิ่มเติม คิดราคา 100 ยูโร ต่อใบ
ระยะเวลาในการดำเนินการ คือ 3 เดือน โดยประมาณ
ความแตกต่างระหว่าง ใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Anerkennung) และการประเมินใบประกาศนียบัตร (Zeugnisbewertung) ทั้งสองอย่างแตกต่างกัน อย่าเข้าใจผิดนะคะ
- การขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Anerkennung) จำเป็นต้องมี เมื่อคุณต้องการสมัครงานในเยอรมนี ในสาขาวิชาชีพที่มีการควบคุม อันนี้คือได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางว่าคุณมีทักษะและความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้น ๆ เทียบเท่าและเป็นที่ยอมรับของที่นี่
- การประเมินใบประกาศนียบัตร (Zeugnisbewertung) สำหรับวิชาชีพที่ไม่มีการควบคุมในเยอรมนี อันนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ถ้าเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ สามารถยืนสมัครงานได้เลย แต่ถ้าใครอยากให้แน่ใจและเพื่อให้เอกสารสมัครงานหรือขอทำ Ausbildung ดูหนักแน่นขึ้น ควรจะยื่นขอเอกสารการประเมินใบประกาศนียบัตรด้วยก็ได้
เราเอง ตอนยื่นสมัครทำ Ausbildung สาขา Kauffrau im E-Commerce ก็ไม่ได้มีการประเมินใบประกาศนียบัตร ยื่นแค่เอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยเท่านั้นเอง
คุณสามารถดูข้อมูลได้ที่ anabin (Anerkennung und Bewertung ausländischer Bildungsnachweise) ว่ามหาวิทยาลัยที่คุณจบมานั้น ได้รับการยอมรับจากทางเยอรมนีหรือไม่
ขั้นตอนการตรวจสอบสถานะของมหาวิทยาลัยว่าเป็นที่ยอมรับหรือไม่ สามารถทำได้ดังนี้
1️⃣ เปิดเข้าไปที่ เว็บไซต์ ของ anabin
2️⃣ เลือก “Institutionen” จากเมนูหลัก
3️⃣ เลือกไปที่ “Suchen” แล้วก็เลือกประเทศไทยจาก „Länderauswahl öffnen“
4️⃣ หลังจากนั้นก็เลือกดูตามมหาวิทยาลัยที่คุณจบการศึกษาว่าได้รับการยอมรับหรือไม่
สถานะของแต่ละสถาบันอาจเป็น H +, H- และ H +/-
- H+ 👉 สถาบันเป็นที่ยอมรับ
- H- 👉 ไม่มีการยอมรับ หรือ ไม่มีการจัดประเภทเป็นมหาวิทยาลัยในเยอรมนี
- H +/- 👉 บอกไม่ได้ชัดเจน อาจจะเป็นเพราะ มีบางสาขาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่เป็นที่ยอมรับ ในกรณีแบบนี้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความสามารถของผู้ยื่นขอรับในรับรอง
7 คำถามที่พบบ่อย
1️⃣ การขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Anerkennung) จำเป็นเมื่อไหร่ 👉 เมื่อคุณต้องการยื่นใบสมัครงานในวิชาชีพที่มีการควบคุมในเยอรมนีเท่านั้น (reglementierter Beruf) 2️⃣ ฉันสามารถทำงานในเยอรมนีโดยไม่มีการขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Anerkennung)ได้หรือไม่? 👉 อันนี้ขึ้นอยู่กับอาชีพที่คุณต้องการสมัคร ว่าเป็นอาชีพที่มีการควบคุม (Reglementierte Berufe) หรือไม่ ถ้าใช่ คำตอบคือ ไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม อาชีพที่ไม่มีการคุ้มครอง สามารถยื่นใบสมัครได้เลย 3️⃣ ถ้าได้รับใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จะได้รับวีซ่าด้วยหรือไม่ 👉 ไม่ได้รับ เพราะเป็นคนละส่วนกัน คุณต้องยื่นขอวีซ่าต่างหาก เพื่อเดินทางเข้ามาในประเทศเยอรมนี หลังจากนั้น คุณต้องยื่นขอใบอนุุญาตให้อาศัยอยู่ในเยอรมนี (Aufenthaltserlaubnis) ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถทำงานและอาศัยอยู่ที่นี่ได้นานและสะดวกขึ้น 4️⃣ ฉันสามารถยื่นคำร้องการใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จากประเทศไทยได้หรือไม่? 👉 ได้ 5️⃣ ฉันไม่สามารถยื่นเอกสารที่จำเป็นบางอย่าง สำหรับการขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพได้ จะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง 👉 กรณีที่คุณไม่สามารถยื่นเอกสารบางอย่างได้ อาจจะใช้วิธีการฝึกงาน การทดลองงาน หรือการสอบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถของคุณก็ได้ หรือ คุณอาจจะปรับเปลี่ยนแผนการเรียน หรือ เรียนเพิ่มเฉพาะส่วนที่ไม่ได้รับการยอมรับก็ได้ 6️⃣ ในการยื่นขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จำเป็นต้องมีพื้นฐานภาษาเยอรมันหรือไม่ 👉 ในการยื่นเอกสาร ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาเยอรมัน แต่บางวิชาชีพอาจจำเป็นต้องใช้ทักษะทางด้านภาษาเยอรมัน เช่น การทดสอบความรู้ คำศัพท์ทางเทคนิคต่างๆ แต่แนะนำว่าควรจะมีความรู้ภาษาเยอรมันระดับที่พอสื่อสารได้จะดีมาก เพราะจะเป็นผลดีต่อทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตที่นี่ 7️⃣ การยื่นขอใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ต้องใช่เอกสารอะไรบ้าง 👉 เอกสารที่จำเป็นต้องมีคือ - ใบคำร้อง (Antrag) - หลักฐานประจำตัว เช่น หนังสือเดินทาง หรือ Aufenthaltserlaubnis (ใบอนุุญาตให้อาศัยอยู่ในเยอรมนี) - หลักฐานแสดงคุณสมบัติทางวิชาชีพของคุณ เช่น ใบรับรองการทำงานจากประเทศไทยที่มีการแปลเป็นภาษาเยอรมันและมีการรับรองเอกสารอย่างถูกต้อง - วุฒิการศึกษาที่มีหลักฐานรายละเอียดของเนื้อหาและระยะเวลาที่เรียนอย่างครบถ้วน โดยปกติแล้วเอกสารที่ยื่นจะต้องมีการแปลเป็นภาษาเยอรมัน และมีการรับรองเอกสารให้เรียบร้อย บางครั้งทางหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะร้องขอหลักฐานหรือเอกสารเพิ่มเติมได้
แม้ว่าหลายหน่วยงานในเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่าง ๆ ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาลและสถานดูแลผู้สูงอายุหลายแห่ง ต่างมีความต้องการแรงงานและบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถที่ได้มาตรฐานอย่างสูง แต่การดำเนินการและขั้นตอนต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างละเอียดและรอบคอบ การดำเนินจึงใช้เวลานานพอสมควร แต่นั้นเป็นเพราะทางเยอรมนีต้องการให้แน่ใจว่า ผู้ที่จะเข้ามาเป็นแรงงานของที่นี่ โดยไม่ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนของทางเยอรมนีนั้น เป็นแรงงานที่มีคุณสมบัติ มีทักษะและศักยภาพได้มาตรฐานตามที่ตลาดแรงงานของที่นี่ต้องการจริง ๆ
[…] reglementierte Berufe ไม่จำเป็นต้องมี ใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Anerkennung ausländischer Berufsabschlüsse) […]